YouTube video

การเรียบเรียงดนตรี

        การเรียบเรียงดนตรีถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำเพลง ซึ่งขั้นตอนการเรียบเรียงดนตรี พูดง่าย ๆ ก็คือการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับเพลงของเรา เหมือนกับการจับเอาเพลงของเราที่ตอนแรกเป็นแค่ idea เหมือนคนที่ยังไม่ได้ใส่เสื้อผ้า เอามาใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ให้พร้อมออกไปเที่ยว ไปเจอกับใคร ๆ ได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้เราต้องตัดสินใจแล้วว่าเราจะใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้างซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับแนวดนตรีและเอกลักษณ์ในงานเพลงของเรานั่นเองครับ

        การเรียบเรียงดนตรีได้ดีก็เลยเหมือนกับการเลือกเครื่องแต่งกายได้เหมาะสม มีความ mix and match เสื้อเข้ากับกางเกง กางเกงเข้ากับรองเท้า แต่งกายให้เหมาะสมกับงาน งานหรูหรือทางการก็ใส่สูทหน่อย งานสบาย ๆ ก็แต่งตัวสบาย ๆ อะไรแบบนี้ครับ การทำเพลงก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน พอไอเดียเราชัดแล้วจากนั้นเราจึงกำหนดว่าเครื่องดนตรีไหนจะเล่นอะไรและทำหน้าที่อะไรในท่อนต่าง ๆ ของเพลง รวมไปถึงการคิดด้วยว่าเครื่องดนตรีไหนจะบันทึกเสียงด้วยเครื่องดนตรีจริง ๆ หรือเครื่องดนตรีไหนจะใช้ MIDI ทำครับ แต่สำหรับวันนี้เราจะลองมาเรียบเรียงดนตรีผ่าน MIDI ในโปรแกรมทำเพลงของเราก่อนละกันนะครับ

        ก่อนที่เราจะเริ่มลงมือเรียบเรียงดนตรีกันในวันนี้ ผมก็ขอแนะนำชุดอุปกรณ์กันก่อน ตัวแรกก็เป็น MIDI Controller หรือ MIDI Keyboard จาก Native Instruments รุ่น KOMPLETE KONTROL A49 เป็นคีย์บอร์ดรุ่นใหม่ล่าสุดของ Native Instruments ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองการทำงาน และควบคุมโปรแกรมทำเพลง (DAW) ของเราได้อย่างครบครัน แถมยังพ่วงด้วย Plugin แบบฟรี ๆ มาให้อีกเยอะเลย คีย์บอร์ดตัวนี้จะใหญ่ขึ้นมาหน่อย เพราะมี 49 คีย์ ซึ่งก็ทำให้เราเล่นได้ง่ายและสะดวกดีนะครับ สำหรับ preset เสียงที่แถมมานั้นเรียกได้ว่าครบครัน แบบเยอะมาก ๆประกอบไปด้วยเสียงกว่า 4,500 เสียง และ File เสียงอื่น ๆ อีกขนาด 9.7 GB แต่ไม่ต้องหวงว่าจะงงนะครับ เพราะว่าเจ้าตัวนี้มีระบบการเลือกเสียงที่ถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ทำให้สามารถตามหาเสียงที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วจากเสียงนับพันที่มี แถมยังฟังตัวอย่างเสียงที่เลือกไว้ได้เลยไม่ต้องเสียเวลาโหลดมาลองก่อนให้เสียเวลา เพื่อทำให้การใช้งานลื่นไหลที่สุด อีกทั้งยังมีปุ่มควบคุมอยู่บนเครื่อง จะเล่น จะหยุด จะอัด ปรับ adjust levels ต่าง ๆ ตั้งค่า Tempo หรือ undo/redo และอีกมากมาย สามารถทำได้ด้วยปลายนิ้วเลยครับ แถมมี จอ OLED ที่แสดงผลทุกอย่างแบบ real-time ไม่ว่าตอนเลือกเสียง หรือปรับ paramters ต่าง ๆ ทำให้ทำงานได้ง่ายและสะดวกมาเลยครับ

        คราวนี้เราจะมาเริ่มต้นทำการเรียบเรียงดนตรีกันนะครับ อย่างแรกเลยก็คือเราจะต้องลงเสาเข็มของบ้านก่อน ในที่นี้ก็หมายถึงการสร้างจังหวะของเพลง สร้างบีทกลองขึ้นมานั่นเอง เราก็ใช้วิธีเดียวกันกับที่เราเรียนรู้ไปใน EP. ที่สองนะครับ ซึ่งรูปแบบหรือ pattern ของกลองนั้นจะเป็นไปตามแนวดนตรีหรือรูปแบบของเพลงนะครับ ก่อนอื่นเลยเราก็ต้องมีไอเดียที่ชัดเจนแล้วว่าเพลงของเราเป็นแนวไหน ความเร็วเท่าไหร่ และแต่ละท่อนจะเป็นยังไง เพราะจังหวะกลองแต่ละท่อนในหนึ่งเพลงก็ย่อมไปเหมือนกันนะครับ จากนั้นขั้นตอนต่อมาเราอาจเลือกว่าเราจะใส่อะไรก่อน ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคนนะครับ บ้างก็ใส่คอร์ดก่อน บ้างก็อาจจะใส่เบสไปก่อน งั้นเดี๋ยวผมจะลองใส่คอร์ดของเพลงลงไปก่อนนะครับ ในขั้นตอนนี้บางคนที่เล่นกีตาร์ก็อาจจะแต่งทางเดินคอร์ดเอาไว้ก่อนแล้ว และอาจจะมาเล่นบันทึกเสียงลงไปในโปรแกรม หรืออาจจะเลือกใช้เครื่องดนตรีอื่น ๆ อย่างเปียโนหรือ synth แล้วเขียน MIDI ลงไปก็ได้

        ขั้นตอนต่อมาพอได้คอร์ดแล้ว เราก็ลองเล่นเบสใส่ลงไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็เหมือนกันถ้าใครมีเบสอยู่กับตัวก็สามารถเล่นสดบันทึกเสียงลงไปได้เลย แต่ถ้าไม่มีก็จะเขียนเป็น MIDI ก็ได้ครับ คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนการแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับเพลง ด้วยการเพิ่มแทร็กใส่ไลน์เสริมลงไปให้เพลงมันมีสีสันมากขึ้น ซึ่งในขั้นตอนนี้เราต้องคิดว่าเราจะใช้เครื่องดนตรีอะไร แต่งเสริม เติมสีลงไปตรงไหน ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะมีเสียงหรือเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป และให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับผู้ฟังนะครับ อย่างไวโอลินก็จะให้เสียงที่แหลม ถ้าเล่นเร็วก็สนุกสนาน ร่าเริง ถ้าเล่นช้าและสูงก็จะให้อารมณ์เศร้าเสียงแหลมเล็กเหมือนมันกรีดเข้ามาในความรู้สึก ถ้าเป็นเชลโลก็จะเป็นเครื่องสายที่ยังแหลมอยู่แต่ให้เสียงที่ทุ้มขึ้นมาหน่อย ก็จะมีโทนที่ฟังดูเศร้าสร้อย เปลี่ยวเหงา หรือชวนคิดถึงใครบางคน อะไรแบบนี้นะครับ แต่ถ้าเพลงของเราเป็นเพลงปอปทั่วไปใช้เครื่องดนตรีหลัก กีตาร์ เบส กลอง เปียโน ไลน์นี้ก็จะเป็นการเสริมจากคอร์ดที่เราได้วางไว้ อาจเติมสีสันแบบเพลงสมัยใหม่ด้วยการใส่ซาวด์อิเล็กทรอนิกจากเสียงซินธ์ลงไปด้วยก็ได้ครับ

        หลังจากเราใส่รายละเอียดแต่ละเครื่องดนตรีลงไปแล้วเราจะมาลอง playback ฟังกันดูนะครับ พอฟังแล้วเราอาจจะยังรู้สึกว่า มันมีบางจุดที่แก้ไขให้ดีขึ้นได้ เช่นในท่อนฮุคมันยังไม่แตกต่างจากท่อนส่งก่อนหน้ามากนัก เราก็อาจต้องมาดูที่การเรียบเรียงของเราว่าเราได้ทำให้มันแตกต่างกันไหม อย่างในท่อนส่งเราอาจจะทำให้รายละเอียดมันดรอปลงมาหน่อยอย่างลูกเล่นกลองอาจไม่ต้องใส่อะไรมาก รายละเอียดของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ก็ยังไม่ต้องใส่ให้มันซับซ้อน พอมาถึงท่อนฮุคแล้วเราอาจจะเติมสีสันอะไรลงไปให้มันสะดุดหู ดึงดูดคนฟังได้ จังหวะกลองก็อาจมีความหนักแน่นขึ้น มีไลน์กีตาร์ทั้งริทึ่มและไลน์เสริมใส่ลงไป อาจเติมซินธ์หรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ เข้ามาช่วยบ้าง อะไรแบบนี้นะครับ ลองปรับลองทำไปเรื่อย ๆ ครับ 

        เป็นยังไงกันบ้างครับกับเรื่องของการเรียบเรียงดนตรีในวันนี้ อาจจะมีรายละเอียดที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และลองทำดูก่อนใช่มั้ยครับ ไม่เป็นไรครับ ก็ให้ใช้เวลาเรียนรู้ลองฝึก ลองหาเพลงมาฟังและสังเกตในรายละเอียดดูว่าเค้ามีการเรียบเรียงอะไรยังไง ใช้เครื่องดนตรีไหน แต่ละท่อนใส่รายละเอียดยังไง และทดลองทำกันดูไปเรื่อย ๆ นะครับ ยิ่งฝึกฝน ยิ่งทำ เราก็จะยิ่งเก่งมากขึ้นครับ และลองเรียนรู้และทำเพลงหลาย ๆ แนวดู เพราะดนตรีแต่ละแนวก็จะมีรายละเอียดและเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป ให้ความสนุกในการเรียบเรียงแตกต่างกันไปครับ ลองทำไปเรื่อยๆ แบบนี้เราก็จะเป็นโปรดิวเซอร์ หรือ คนทำเพลงที่เก่งได้อย่างแน่นอนครับ

       สำหรับใครที่ยังไม่มี MIDI Controller ดี ๆ ในการทำเพลง Native Instruments รุ่น KOMPLETE KONTROL A49 ที่ผมใช้ตัวนี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์คู่ใจที่ช่วยในการทำเพลงได้ดีเลยล่ะครับ หากใครสนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ลิงค์ด้านล่าง และคอยติดตาม HOME MUSIC PROPLUGIN X BEARTAI ใน EP. ต่อ ๆ ไป ที่ยังมีสาระความรู้ในการทำเพลงที่สนุกและน่าสนใจที่ผมจะนำมาฝากอีกมากมายเลยครับ

ใส่ความเห็น