การตั้งค่าไมโครโฟน ให้รับกับความถี่ตามชนิดของเครื่องดนตรี
บทความตอนนี้ เราจะมาคุยกันเรื่องทำไมในการอัดเสียง จึงควรใช้ไมค์ที่ออกแบบเพื่ออัดเครื่องดนตรีเฉพาะแบบ และรีวิวการทดสอบใช้งาน Aston Stealth ที่เป็นไมค์ที่สามารถปรับการรับเสียงได้หลายแบบในตัวเดียว เพื่อการใช้งานให้เหมาะกับงานการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีหรือลักษณะเสียงเฉพาะแบบ
ทำไมต้องใช้หลายไมค์ – ไมโครโฟนกับการรับความถี่ตามชนิดของเครื่องดนตรี
ในเว็บไซต์ของห้องบันทึกเสียงมาตรฐานหลายๆ แห่ง จะมีรายการไมโครโฟนที่ห้องอัดนั้นมีให้เลือกใช้ ซึ่งจะมีให้เลือกอย่างหลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เช่น ไมค์สำหรับร้อง ไมค์สำหรับจ่อแอมป์กีต้าร์ ไมค์สำหรับอัดเครื่องเป่า ไมค์สำหรับอัดกลอง ฯลฯ
เหตุที่ต้องมีไมค์เพื่อรับเสียงจากแหล่งเสียงที่ต่างกัน เพราะเสียงร้องของคนแต่ละคนแตกต่างกัน เสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด มีความถี่ รูปแบบการเกิดเสียง แตกต่างกัน หรือมีลักษณะการเกิดเสียงที่มีลักษณะเฉพาะจากเสียงนั้นๆ เช่น เสียงกลองเกิดจากการกระทบของไม้กลองกับหนังกลอง ทำให้มีทั้งตัวเนื้อเสียงกลอง เสียงกระแทก ซึ่งการใช้ไมค์เฉพาะแบบที่เหมาะกับตัวเสียง ทำให้การเก็บเสียงจากไมค์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการมิกซ์เพลง หลักการมิกซ์งานที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือการจัดการให้เสียงแต่ละเสียงอยู่ในย่านของเสียงเครื่องดนตรีนั้นๆ อย่างชัดเจนและตัดย่านที่ไม่จำเป็นของเสียงนั้นๆ ออก เพื่อให้เสียงแต่ละเสียงมีที่ทางความถี่ในงานมิกซ์ของตัวเอง (Filter) การที่เรามีไมค์ที่เก็บความถี่ที่โดดเด่นของเสียงแต่ละเสียงด้วยไมค์ที่เหมาะสม ก็คือการใช้ไมค์เป็น Filter ตั้งแต่ต้นทางการบันทึกเสียง ทำให้เสียงนั้น มีความถี่ที่นำมาใช้ในการมิกซ์ได้ง่ายขึ้น เสียงสะอาดและชัดเจนขึ้น
แต่ในการทำงานระดับโฮมสตูดิโอหรืองานแบบที่เราทำงานเองอยู่กับบ้าน นักทำเพลงส่วนใหญ่ มักไม่ได้มีไมค์ให้เลือกใช้งานหลากหลาย อาจมีไมค์ที่ใช้ประจำห้องแค่หนึ่งไมค์เพื่อใช้อัดเสียงทุกอย่าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเสียงที่อัดได้นั้นมีคุณภาพชัดเจน สะอาด ได้ความถี่ครบถ้วน ซึ่งเราสามารถจัดการ Filter ด้วย EQ ในขั้นตอนการมิกซ์ได้
การทดสอบใช้งานไมโครโฟน Aston Stealth ไมค์ตัวเดียว ที่ปรับได้เหมือนมีไมค์ใช้งานหลายไมค์
การมีไมค์ให้เลือกใช้ตามแหล่งเสียง ใช้บันทึกเสียงตามชนิดเครื่องดนตรี เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ตัวงานได้คุณภาพ แต่ตามที่บอกไว้ว่า นักทำเพลงในระดับโฮมสตูดิโอ มักไม่ได้มีตัวเลือกในการมีไมค์ที่หลากหลาย
Aston Stealth จึงถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดย Aston Stealth สามารถปรับการรับเสียงให้เหมาะกับการบันทึกเสียงรูปแบบต่างๆ ได้ 4 รูปแบบ โดยแต่ละรูปแบบจะทำการบันทึกเสียงตอบสนองย่านเสียงต่างกัน สามารถเลือกใช้โดยรับการจ่ายไฟ Phantom 48v เรียกว่า Active Mode ทำให้ Aston Stealth ทำงานเหมือน Condenser Microphone ทำให้มีความไวในการรับเสียงได้เร็ว ใช้ Gain จากไมค์ปรีไม่มาก และสามารถใช้โดยไม่ต้องมีการรับไฟ 48v เรียกว่า Passive Mode ทำงานเหมือน Dynamic Microphone ทำให้รับเสียงที่มีความดัง รับเสียงรบกวนรอบไมค์ได้น้อยจากการมีรูปแบบการปรับไมค์รวมถึงระบบ Active และ Passive นี้ ทำให้เสมือนมีไมค์ให้เลือกใช้ 8 แบบในไมค์ตัวเดียว
โหมดเสียงต่างๆ ของ Aston Stealth
Aston Stealth สามารถปรับการรับเสียงได้ 4 แบบ โดยปรับจากวงแหวนที่เป็นสวิตซ์ด้านล่างของไมค์ รูปแบบเสียงที่ Aston Stealth ทำได้ คือ
V1 (Vocal1) – เหมาะสำหรับบันทึกเสียงร้อง หรือเสียงเครื่องดนตรีทั่วไป เป็นตัวเลือกที่ต้องใช้คำว่าให้ย่านเสียงครบที่สุดจากตัวเลือกทั้งหมด 4 แบบ
V2 (Vocal2) – ตัวเลือกนี้ เสียงย่านสูง ความคมชัดและ Gain ในการรับเสียงจะมากกว่าแบบ V1 เหมาะกับการใช้รับเสียงที่ต้องการรายลละเอียดย่านสูงมาก เสียงร้องที่ต้องการความคมชัด หรือใช้เป็นไมค์ Overhead รวมถึงเก็บเสียง Percussion หรือ Hihat ได้
G (Guitar) – ตัวเลือกนี้ เหมาะกับการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีอย่างกีต้าร์ที่ผ่านแอมป์ หรืแเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เน้นเสียงย่านกลาง เพราะให้เสียงในย่านกลางชัด มีการตัดเสียงย่านต่ำออกไปมากพอควร
D (Dark) – ตัวเลือกนี้จะให้เสียงในแบบไมค์ Vintage หรือ Ribbon Microphone ซึ่งจะไม่ได้เก็บเสียงแบบจัดจ้าน แต่จะเน้นความอุ่นของเสียง และความละมุนแบบไมค์วินเทจ
ผมลองใช้งาน Aston Stealth โดยลองทำเพลงแล้วบันทึกเสียงเครื่องดนตรี 3 ชิ้น ได้แก่ กีต้าร์โปร่ง กีต้าร์ไฟฟ้า และเบส โดยกีต้าร์โปร่งใช้ Aston Stealth จ่อที่บริเวณตัวกีต้าร์ระหว่างบริดจ์และรูกีต้าร์ ส่วนกีต้าร์ไฟฟ้าและเบสเล่นโดยต่อเข้าแอมป์แล้วใช้ Aston Stealth วางหน้าแอมป์เพื่อเก็บเสียง เสียงจี่เสียงซ่าที่ได้ยินจากในคลิบ เป็นเสียงที่มาจากแอมป์ ผมคงไว้แบบเดิมไม่ได้ตัดออก เพื่อให้ได้ยินเสียงที่อัดมาแบบต้นฉบับ เพลงตัวอย่างที่อัดมาจากไมค์แต่ละแบบ นำมาจัดแค่ความดังเบาและแพนตำแหน่ง ไม่ได้ปรุงแต่งเสียงหรือใช้อีคิวปรับเพิ่มเติม และใช้โหมดการใช้งานแบบ Passive เท่านั้น (ใช้โดยไม่มีไฟ Phantom 48v)
ตัวอย่างเสียงจากไมค์แต่ละแบบ
ส่วนเสียงที่เอามามิกซ์ ผมเลือกเสียงจากตำแหน่งไมค์ที่ชอบในแต่ละเครื่องดนตรี ได้แก่ กีต้าร์โปร่งใช้เสียงจากแบบ V1 กีต้าร์ไฟฟ้าใช้เสียงจากแบบ G เบสใช้เสียงจากแบบ D เอามามิกซ์รวมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ แล้วใช้ปลั๊กอินต่างๆ จัดการมิกซ์แบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้ได้ผลสุดท้ายแบบงานเพลงจริง
ตัวอย่างเพลงที่มิกซ์แล้ว
Stealth-Mix
บทสรุป
Aston Stealth ทำหน้าที่ของไมค์ที่ให้เสียงหลายลักษณะมาได้อย่างดี การปรับตำแหน่งเสียงแต่ละแบบ ให้ผลชัดเจน และด้วยราคาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไมค์ประจำบ้านรุ่นอื่นๆ ทำให้ Aston Stealth เหมาะกับงานที่ต้องการความหลากหลายในการบันทึกเสียง โดยใช้ไมค์ตัวเดียวแต่ยังได้คุณภาพงานที่ดี ถ้าคุณกำลังเลือกไมค์ที่รับเสียงได้หลากหลาย ทำงานได้ทั้งกับเสียงร้องที่หนักแน่นหรือจัดจ้าน หาไมค์ตัวเดียวที่จบงานได้อย่างดี ขอให้มอง Aston Stealth เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ครับ
ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ
ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจแนะนำการทำเพลงและรับผลิตเพลง ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/