การบันทึกเสียงเครื่องดนตรีด้วยไมค์ Small Diaphragm 
เรามาดูกันครับว่าเจ้า “sE7” ต่างจากไมค์ทั่วไปอย่างไร และเหมาะที่จะใช้งานกับใคร
Image1.jpg
ทางโปรปลั๊กอินได้ส่งไมค์ sE-Electronics รุ่น sE7 มาให้ผมทดลองใช้งาน โดยไมค์ sE7 นี้เป็นไมค์คอนเดนเซอร์ขนาดเล็ก ต้องใช้ไฟ Phantom Power 48V เป็นแหล่งจ่ายไฟขณะทำงาน ตามสเป็กออกแบบมาให้ใช้เป็นไมค์สำหรับอัดเครื่องดนตรีตั้งแต่แบบ Acoustic เช่น กีต้าร์โปร่ง เปียโน เครื่องสี เครื่องเป่า กลอง หรือเอาไว้จ่อหน้าตู้แอมป์กีต้ารและเบสก็ได้
สำหรับไมค์ sE7 ที่ทางโปรปลั๊กอินส่งมาให้ผม เป็นแบบ Matched Pair คือแบบที่ขายเป็นคู่ในหนึ่งกล่องมีไมค์ sE7 มาให้สองตัว ทำความรู้จักไมค์แบบ Matched Pair ไมค์ที่ขายแบบ Matched Pair หรือขายเป็นคู่ คือไมค์ที่เน้นการใช้งานแบบที่ใช้อัดสองไมค์พร้อมกัน เช่น การอัดกลองตำแหน่ง Overhead การอัดเปียโน การอัดที่ต้องการมิติแบบ Stereo  ไมค์ปกติที่ทำขายแม้เป็นรุ่นเดียวกัน แต่ก็จะมีค่าความเพี้ยนในการทำงานเช่น ความแรงสัญญาณ การรับความถี่ ความต้านทานที่ต่างกัน ความต่างนี้ไม่ได้หมายถึงคุณภาพสินค้าไม่ดีหรือไม่ได้มาตรฐาน แต่เป็นค่าความเพี้ยนจากการที่เป็นของคนละชิ้นกัน ไมค์รุ่นเดียวกัน แต่ผลิตกันคนละเวลา ต่างล็อตกัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุภายใน ค่าความเพี้ยนลักษณะเสียงก็อาจต่างกันมาก แล้วถ้าเราต้องการใช้ไมค์รุ่นเดียวกัน เพื่ออัดเสียงที่ต้องการความเป็นมิติ Stereo ความต่างของไมค์สองตัวแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เรารู้สึกถึงความต่างของเสียงได้ Image2.jpg
ไมค์ที่ขายแบบ Matched Pair ทางผู้ผลิตจะจับคู่ไมค์โดยวัดค่าความเพี้ยนต่างๆ ให้ไมค์สองตัวมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อให้นำมาใช้งานแบบคู่ได้โดยที่ไมค์สองตัวมีความต่างกันน้อยที่สุด นี่คือความต่างระหว่างการซื้อไมค์แบบ Matched Pair กับการซื้อไมค์รุ่นเดียวกันซ้ำสองตัว คือไมค์ Matched Pair ผ่านการวัดค่าจับคู่ไมค์สองตัวให้เหมือนกันมากที่สุดมาจากผู้ผลิต
ไมค์สำหรับอัดเครื่องดนตรี ต่างกับไมค์ทั่วไปอย่างไร ไมค์สำหรับอัดเครื่องดนตรีเฉพาะแบบ ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับเสียงเครื่องดนตรีที่ไมค์นั้นสร้างมาเพื่ออัดเสียงนั้นๆ ในด้านการเก็บความถี่ที่เหมาะสม เฉพาะช่วงที่เครื่องดนตรีนั้นๆ สร้างออกมา การรับความแรงของสัญญาณ การกระแทกของเสียง ที่เป็นไปตามลักษณะเครื่องดนตรี ไม่จำเป็นต้องเก็บเสียงได้ความถี่กว้าง แต่เก็บความถี่และลักษณะเสียงได้ตามลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรี ที่ไมค์ออกแบบมาเพื่อเก็บเสียงนั้น Image3.jpg
ทำความรู้จัก sE7  sE7 เป็นไมค์ที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องดนตรี แต่ใช้กับเครื่องดนตรีได้หลากหลาย เพราะเก็บความถี่ได้กว้างตั้งแต่ย่านต่ำจนถึงย่านสูง รับเสียงที่มีแรงกระแทกอย่างเสียงกลองได้ รับเสียงย่านต่ำอย่างเสียงเบสได้ มีขนาดเล็ก รับเสียงได้ทิศทางเดียวคือจากหน้าไมค์ เรียกไมค์รูปร่างแบบนี้ว่าเป็น Pencil Mic บนตัวไมค์มีสวิตซ์ปรับค่าบนตัวไมค์สองค่าคือ 1. ค่าความแรงสัญญาณปรับได้ที่ 0 และ -20dB 2. เปิดใช้ Low-Cut Filter หรือการตัดความถี่ต่ำออกที่ 80Hz ความตั้งใจของผู้ผลิต sE-Electronics คือให้ sE7 เป็นไมค์ที่ใช้ประโยชน์แบบไมค์ตัวเดียวนำไปใช้ได้กับงานหลายๆ รูปแบบ สำหรับการอัดเครื่องดนตรีทุกชนิด อัดเสียงจากแอมป์กีต้าร์ แอมป์เบส รวมทั้งยังใช้เป็น Overhead Mic เก็บเสียงกลองแบบ Stereo ได้ ด้วยขนาดที่เล็กแบบ Pencil Mic และการเป็นไมค์แบบคอนเดนเซอร์ที่จับเสียงได้ไว จึงเหมาะกับการใช้ทั้งในห้องบันทึกเสียงและการแสดงสด Image4.jpg
ทดสอบไมค์ sE7 ผู้ผลิต sE-Electronics เขียนบอกบนเว็บไว้ว่า sE7 เป็นไมค์ที่ให้เสียงเป็นธรรมชาติ ผมเลยต้องนึกก่อนว่า ถ้าผมต้องการไมค์ที่เก็บเสียงเป็นธรรมชาติ ไมค์นั้นควรมีลักษณะอย่างไร ลักษณะเสียงธรรมชาติที่ผมนึกถึงก็คือ ไมค์ที่อัดเสียงมาแล้วไม่ทำให้ความรู้สึกของเสียงเปลี่ยนไป ผมใช้คำว่าความรู้สึกของเสียงเพราะการอัดเสียงด้วยไมค์ เสียงที่อัดย่อมมีความต่างกับเสียงจริงๆ ที่ได้ยิน แต่ไมค์บางตัว เปลี่ยนลักษณะของเสียงไปด้วย เช่น ทำให้เสียงคมขึ้น เก็บความละมุนหรือลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นไม่ได้ เช่น ผมมีกีต้าร์สายไนลอนที่เสียงกลมละมุนมาก แต่พอใช้ไมค์บางตัวอัด กลายเป็นกีต้าร์เสียงคม แข็ง ทำให้เสียลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ ไป ความเป็นธรรมชาติของการเก็บเสียงจากไมค์ที่ผมนึกถึง นอกจากไมค์จะเก็บเสียงได้ดี ยังต้องรักษาความรู้สึกของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นไว้ได้ด้วย การทดสอบ sE7 ผมจึงมองข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญ ผมทดสอบ sE7 โดยลองใช้อัดเสียงเพลงที่ทำใหม่ เป็นเพลงสั้นๆ ที่มีเครื่องดนตรีหลักคือ กีต้าร์โปร่ง และมีเครื่องดนตรีประกอบเป็นเครื่องเคาะต่างๆ ได้แก่ Shaker, เสียงกลองใช้เล่นแบบคาฮอง เนื่องจากผมไม่มีกลองหรือคาฮองของจริง เลยใช้กล่องรองเท้ามาตีแทน, เสียง Ride หรือฉาบ ผมใช้ตะแกรงปิ้งย่างเคาะด้วยส้อมเหล็กแทน การอัดเสียงทั้งหมด ผมอัดโดยใช้ไมค์ sE7 อัดพร้อมกัน 2 ตัว เพื่อให้ได้มิติความเป็น Stereo โดยการวางไมค์ในการอัดกีต้าร์ทั้งหมด ผมใช้การวางไมค์แบบ XY Technique วางไมค์ให้ซ้อนทับกันเป็นกากบาท ส่วนการอัดเครื่องเคาะให้จังหวะทั้งหมด ผมอัดโดยตั้งไมค์แบบ Overhead เป็น Stereo สวิตซ์บนตัวไมค์ตั้งค่าไว้ที่ 0dB และไม่ใช้ Low-Cut Filter เสียงที่อัดมีทั้งหมด 6 เสียง การแพนของเสียงที่ได้ยิน เกิดจากตำแหน่งของตัวผมกับตำแหน่งการตั้งไมค์ โดยผมนึกถึงการจัดวางตำแหน่งการแพนไว้ก่อนว่าจะวางเสียงไหนไว้ตรงไหน จากนั้นในการอัดเสียง ผมใช้วิธีขยับตัวให้เข้าไปใกล้ฝั่งตำแหน่งไมค์ เพื่อให้ได้การแพนที่ต้องการ ตัวอย่างเสียง sE7-Dry 001.png จากตัวอย่างเสียง SE7-Dry.wav เป็นเพลงที่อัดแล้วไม่ผ่านการปรับแต่ง ความดังและการแพนของทุกเสียงเกิดจากการอัดจากไมค์โดยตรง ตัวอย่างเสียง sE7-Mix 001.png จากตัวอย่างเสียง sE7-Mix.wav เป็นเพลงที่ถูกปรับแต่งทำการมิกซ์ ใส่ Compressor, EQ, Reverb สรุปผลการทดสอบ sE7 เก็บเสียงได้ดี ให้เสียงที่ดี เก็บเสียงย่านสูงได้ชัดเจน แต่ไม่ถึงกับทำให้เสียงรู้สึกแหลมหรือใสไป การเก็บเสียงกีต้าร์โปร่งที่มีเสียงกว้างทำได้ดี ย่านต่ำไม่ชัดเจนนักแต่ก็ไม่ถึงกับเบลอ การรักษาความเป็นธรรมชาติของเสียงต้นฉบับทำได้ดี ไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกของเสียงไป ความประทับใจของผมต่อ sE7 คือ รับสัญญาณเสียงได้ดีและไว มีความแรงของสัญญาณไมค์ที่มาก โดยผมเปิด Gain ที่ Audio Interface ต่ำกว่าไมค์ที่ใช้ประจำ สัญญาณเสียงที่อัดได้ก็แรงและชัดเจน แต่ในความไวนี้กลับเก็บเสียงรอบไมค์หรือนอกทิศทางรับเสียงได้น้อย ทำให้เสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมน้อยมาก ซึ่งช่วยให้การวางไมค์และการทำงาน ง่ายขึ้น เพราะเกิดเสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมน้อย อีกข้อที่ประทับใจคือความเป็นธรรมชาติ เสียงที่ sE7 เก็บได้ คุณภาพเสียงดี ชัดเจน แต่ไม่แหลมหรือกระด้าง ถ้าเทียบกับไมค์สำหรับเครื่องดนตรีในราคาใกล้กัน ส่วนใหญ่อัดมาแล้วเสียงจะคมหรือแหลม ซึ่งอาจเหมาะกับเสียงแค่บางเสียงหรือดนตรีบางแนว แต่เสียงจาก sE7 ไม่ฉูดฉาด ไม่กระด้าง ข้อดีคือนำไปปรับแต่งได้ง่าย Image5.jpg
ทดสอบอัดเสียงร้อง ผมทดลองอัดเสียงร้องผ่านไมค์ sE7 โดยใช้ฟองน้ำกันลมที่มีให้มา เป็นตัวกันลม ภาพรวมไมค์ให้เสียงชัดเจนดี แต่ด้วยความไวของไมค์ ทำให้เสียงเม็ดน้ำลาย เสียงลมหายใจ ชัดเจนมาก และเสียงคำที่มีการกระแทกของลมอย่าง ป พ ทำให้ไมค์เกิดเสียงลมกระแทกชัดเจน จนเสียงใช้ไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะอัดเสียงร้องด้วย sE7 ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างที่กั้นลมและต้องวางตำแหน่งไมค์ให้ได้ระยะ สรุปคือการอัดเสียงร้องด้วย sE7 เป็นเรื่องทำได้ แต่ใช้ไมค์อื่น จะสะดวกกว่า sE7 เหมาะกับใคร ด้วยราคาและความสามารถ ผมมองว่า sE7 เหมาะกับคนทำงานโฮมสตูดิโอ ที่ต้องการมีไมค์ตัวเลือกเพิ่มจากไมค์ที่ใช้หลัก เพื่ออัดเสียงเครื่องดนตรี และคนทำงาน Live ที่ต้องการไมค์ที่ไวและเสียงรบกวนไม่เยอะ การใช้ sE7 เป็นไมค์ Overhead เป็นเรื่องน่าประทับใจ เพราะ sE7 เก็บรายละเอียดเสียงใต้ไมค์ได้ดี สามารถนำไปปรับใช้กับการอัดกลองที่ใช้ไมค์จำนวนน้อยชิ้นเพื่อทำคลิบแสดงสดได้ สรุปคือ ถ้าคุณต้องการไมค์สำหรับอัดเครื่องดนตรีได้หลากหลาย ราคาไม่สูง คุณภาพดี sE7 เป็นไมค์ที่คุ้มค่ามากตัวหนึ่งครับ ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ รายละเอียดสินค้า sE7 001.png Image6.jpg
ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me
ปัจจุบันเปิดเพจแนะนำการทำเพลงและรับผลิตเพลง ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

ใส่ความเห็น