5 เรื่องเบสิคที่คุณต้องรู้

ก่อนจะเป็น Live Sound Engineer

        เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เรียนดนตรี เป็นนักดนตรี หรือผู้ที่สนใจด้านระบบเสียง ส่วนหนึ่งอาจมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ได้ไม่ยากจนเกินไปเช่นกันครับ หากตั้งใจศึกษาด้านระบบเสียง ด้านดนตรี อย่างจริงจัง หรืออาจเลือกไปเรียนต่อสถาบันด้านซาวด์เอ็นจิเนียร์เลยก็ยังได้ เพราะในปัจจุบันในมหาวิทยาลัยเองก็มีเปิดสอน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร ซาวด์เอ็นจิเนียร์โดยตรง หรือจะเป็นหลักสูตรดนตรีสากล .. แต่สำหรับใครอาจจะยังไม่มีเวลาเรียน หรือศึกษาอย่างจริงจัง

วันนี้ ProPlugin จะมาบอก 5 เรื่องเบสิคว่าถ้าอยากจะเป็น Live Sound Engineer ต้องไปลงลึก ศึกษาอะไรบ้าง

1. เรียนรู้เรื่องดนตรี

เนื่องงานซาวด์เอ็นจิเนียร์ส่วนใหญ่เกือบ 90% เป็นงานที่มีดนตรีมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Live Sound หรือ Studio Sound จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องดนตรี ไม่ต้องถึงขนาดหัดเล่นดนตรีก็ได้ (แต่ถ้าเล่นได้อย่างน้อย 1 ชิ้น ก็จะดีอาจช่วยให้การทำงานของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น)

แค่เราศึกษาแนวเพลงแต่ละรูปแบบ ลักษณะของวงดนตรีแต่ละวง ลักษณะโทนเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ลักษณะการเล่น รูปแบบเพลงต่างๆ โครงสร้างเพลง อารมณ์เพลง ถ้าเราเข้าใจดนตรี เข้าใจเพลงที่นักดนตรีเล่นออกมา จะทำให้การทำซาวด์ออกมาดีมากๆ และถ้าเราทำงานกับดนตรีจนชำนาญ งานด้านเสียงอื่น ๆ ก็จะง่ายขึ้นอีกเยอะ

2. เรียนรู้เรื่องระบบ Sound Systems

Sound Systems คือ การนำอุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆมาต่อเชื่อมกันให้ทำงานอย่างเป็นระบบ ให้มีความสัมพันธ์กัน เกิดความสมดุลย์ในการเชื่อมต่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากเราจะเรียนรู้การเชื่อมต่อระบบเสียง เราก็ต้องเรียนรู้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ว่ามันคืออะไร ใช้งานยังไง ตั้งแต่ Mixer, PA Loudspeaker, Stage Monitor, Audio Processor, Amp Combo, Power Amplifier, Instruments, Microphone, Audio Cable เป็นต้น

ศึกษาไปทีละอย่าง อาจจะเริ่มจากที่ Mixer กับ PA Loudspeaker ก่อน พอเข้าใจหลักการทำงานของมันแล้ว ค่อยมาเครื่องมือถัดๆไป แต่ต้องศึกษามันให้เข้าใจนะครับ ไม่งั้นเวลาทำงานจริงๆ อาจทำให้งานเสียหายได้

3. เรียนรู้เรื่องหลักการทำงานของ Processor

Processor เครื่องมือปรับแต่งเสียงให้มีคุณภาพ หรือให้มีความแปลกใหม่ตามความต้องการของเรา หลักๆ ก็คือ EQ, Compressor, Limiter, Gate, Effect Reverb and Delay, Distrotion, Modulation ต่างๆ เช่น Flagler, Phase ฯลฯ ต้องเรียนรู้งานมันให้เข้าใจจริงๆนะครับ

เพราะเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้เลยในการทำงานด้านเสียง มีความสำคัญมาก เสียงจะออกมาเพราะไม่เพราะก็ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ มีทั้งเป็นแบบ Hardware และแบบ Digital (DSP) แต่ถ้าเราไม่เข้าใจหลักการทำงานของมันจริงๆ แล้วปรับแต่งแบบมั่ว ๆ ไปอาจจะกลายเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดีก็ได้ครับ

4. เรียนรู้เรื่องการคัด EQ และ Mixing

การคัด EQ และการ Mixing เป็นขั้นตอนการทำงานหลังจากเราเชื่อมต่อระบบเสียงเสร็จแล้ว เราจะต้องมีการปรับค่า EQ เอาย่านส่วนเกินที่ทำให้เกิดอาการ Feedback ออก อันนี้ต้องอาศัยความชำนาญค่อนข้างสูง หรืออาจจะหาตัวช่วย Analyzer Meter เข้ามาช่วย ปรับค่า EQ ให้มีซาวด์ตรงตามคาแร็คเตอร์ตามรูปแบบวง รูปแบบแนวเพลง และตามเครื่องดนตรีที่มันควรจะเป็น

ถ้าปรับมั่วละก็เละเทะแน่นอนครับ นอกจากการคัดย่าน EQ แล้ว เราต้องมีการ Mixing ที่ต้องเรียนรู้หนักๆ การ Mixing ก็คือการนำเสียงหลายๆ เสียงมามิกซ์รวมกัน แล้วจัดให้มีความ Balance ไม่ให้เสียงชนกัน หรือทับไลน์กัน ปรับแต่งซาวด์ให้กลมกลืน มีการจัดความดังเบาให้ชัดเจน บางเสียงควรเบา บางเสียงควรดัง บางเสียงควรต้อง Pan แยกออกจากกัน เพื่อความสมบูรณ์ของเสียง ถ้าเราทำแบบไม่เข้าใจ รับรองเพลงที่มิกซ์ออกมา ฟังไม่รู้เรื่องแน่นอน

5. เรียนรู้เรื่อง DAW. และ Software เกี่ยวกับเสียง

ทำไมต้องเรียนรู้ด้าน Studio ด้วย ในเมื่อเราเรียนรู้ด้าน Live ก็พอ ก็เพราะว่าในบางงาน เราอาจจะต้องนำความรู้จาก Studio เข้ามาใช้ในงาน Live ด้วย อย่างเช่น ระหว่างมิกซ์งานคอนเสิร์ต ต้องบันทึกเสียงแบบแยกเครื่องดนตรีชิ้น เพื่อเอาไปทำวีดีโอเพื่อจำหน่าย

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีความรู้ด้าน Studio เอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันงานที่อาจมีมากกว่าการทำ Live Sound และอีกข้อดีของการศึกษา Sound Studio ก็คือ เป็นการช่วยฝึกเราด้านการ Mixing และศึกษาซาวด์แต่ละแนวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

ใส่ความเห็น