5 รูปแบบ
การรับเสียงของไมโครโฟน
การอัดเพลงในห้องอัด ไม่ว่าจะ Cover เพลง หรือการอัดเพลงของตัวเองก็ตาม แม้จะเลือกเป็นไมโครโฟน “คอนเดนเซอร์” ไมโครโฟนที่เหมาะกับการใช้ในห้องอัดแล้ว การเข้าใจการรับเสียงของไมโครโฟนก็สำคัญครับ การเข้าใจถึงการรับเสียงของไมโครโฟน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากเลยครับ เพราะคุณภาพเสียงที่ออกมาจากการอัด จะออกมาดีหรือไม่ดี เกิดเสียงเบา ขาดๆหายๆ หรือเสียงแตกนั้นเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย
สำหรับใครที่มีไมโครโฟนอยู่แล้ว ProPlugin แนะนำให้หยิบกระดาษบอกรายละเอียดสินค้ามาดูครับ ว่าไมโครโฟนที่คุณซื้อมามีรูปแบบการรับเสียงแบบไหน แล้วถ้ากำลังหาข้อมูล วิธีเลือกซื้อไมโครโฟนอยู่ ก็อย่าลืมดูส่วนนี้ด้วยนะครับ
รูปแบบที่1 ไมโครโฟนแบบ Cardioid
เป็นไมโครโฟนที่มีการรับเสียงด้านหน้าได้ดี และรับเสียงด้านข้างได้ดีเล็กน้อย โดยรับเสียงส่วนที่มาจากด้านหลังได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย
การใช้งาน
การรับเสียงของไมโครโฟนรูปแบบนี้ จะช่วยลดเสียงรบกวนจากรอบข้างและทิศทางอื่นๆได้ เหมาะสำหรับการร้องเพลงบริเวณด้านหน้าของไมโครโฟน การใช้งานที่ไม่ต้องการเสียงบรรยากาศเข้ามามาก ใช้ได้ดีกับการอัดเสียงในห้องอัดหรือสตูดิโอ งานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ทั่วไป งานกลางแจ้ง เรียกว่าใช้งานได้แทบทุกประเภท
รูปแบบที่2 ไมโครโฟนแบบ Supercardioid
เป็นไมโครโฟนที่มีการรับเสียงด้านหน้าได้ดี แต่ไม่เท่าไมโครโฟนรูปแบบ Cardioid เพราะมีองศาการรับเสียงที่แคบกว่า ซึ่งจะมีการรับเสียงด้านข้างได้ดีเล็กน้อย และรับเสียงด้านหลังบ้าง
การใช้งาน
การรับเสียงของไมโครโฟนรูปแบบนี้ให้ทิศทางการรับเสียงแคบ ทำให้เหมาะกับการร้องเพลงในห้องอัดหรือสตูดิโอ การจ่อไมโครโฟนกับเครื่องดนตรี และใช้ในการพูด การร้องเพลง แต่อาจต้องระวังเรื่องเสียงรบกวนจากไมโครโฟนด้านหลังด้วย
รูปแบบที่3 ไมโครโฟนแบบ Hypercardioid
เป็นไมโครโฟนที่มีการรับเสียงด้านหน้าได้ดี และมีการรับเสียงด้านหลังได้ดีมากขึ้นจากไมโครโฟนแบบ Supercardioid
การใช้งาน
การรับเสียงของไมโครโฟนรูปแบบนี้มีการรับเสียงด้านหลังมากขึ้น แต่อาจต้องระวังในเรื่องเสียงสะท้อนที่มาจากด้านหลัง อาจทำให้เกิดเสียงก้องได้ กรณีใช้อัดเพลงในสตูดิโอ หรือห้องอัด ซึ่งการรับเสียงของไมโครโฟนแบบ Hypercardioid เหมาะกับการใช้งานในห้องอัดหรือสตูดิโอ การจัดคอนเสิร์ต การจ่อไมโครโฟนกับเครื่องดนตรี และการพูด การร้องเพลง
รูปแบบที่4 ไมโครโฟนแบบ Bidirectional
เป็นไมโครโฟนที่มีการรับเสียงด้านหน้าและด้านหลังได้ดี แต่มีความสามารถในการรับเสียงด้านข้างน้อยมาก โดยมีการรับเสียงด้านหน้าแคบกว่าไมโครโฟนแบบ Hypercardioid
การใช้งาน
การรับเสียงของไมโครโฟนรูปแบบนี้ มีการรับเสียงร้องและเสียงบรรยากาศชัดเจน เหมาะกับการอัดเพลงในสตูดิโอ งานบันทึกเสียง การจ่อไมโครโฟนกับเครื่องดนตรี และงานที่ต้องการรับเสียงร้องและเสียงบรรยากาศ
รูปแบบที่5 ไมโครโฟนแบบ Omnidirectional
เป็นไมโครโฟนที่รับเสียงได้รอบทิศทาง ตอบสนองความถี่กว้าง รับเสียงได้ไว
การใช้งาน
การรับเสียงของไมโครโฟนรูปแบบนี้ เหมาะกับการอัดเสียงทั่วไป ใช้งานในห้องประชุม หรือเป็นไมโครโฟนที่ใช้ในการ Conference เพราะมีการรับเสียงได้ดี แต่ก็อาจมีปัญหาในการเกิดเสียงหอนหรือเสียงรบกวนง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นการอัดเสียงบรรยากาศ หากเป็นเสียงพูดหรือเสียงร้อง ไม่ควรพูดห่างจากไมโครโฟนมากเกินไป จะช่วยให้เสียงมีความคมชัดขึ้น