การทำกลอง MIDI ให้สมจริง ด้วยกลองไฟฟ้า
กลอง ถือเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญมากในเพลง ถือเป็นโครงสร้างเพลง
สำหรับนักทำเพลง ปัจจุบันมีปลั๊กอินเสียงกลองเจ๋งๆ ที่เป็นปลั๊กอินยอดนิยมสำหรับกลอง เช่น BFD, Superior Drummer, EZ Drummer, Addictive Drum รวมถึงมี Sampler เสียงกลองจำนวนมหาศาลให้เลือกใช้ แต่ละปลั๊กอิน บันทึกเสียงมาอย่างดี ให้เสียงสมจริง ปรับแต่งได้เหมือนเราไปนั่งอยู่ในห้องที่ใช้บันทึกเสียงกลองนั้น ดังนั้นในมุมเรื่องคุณภาพเสียง ปลั๊กอินกลองในวันนี้ให้เสียงได้ในแบบที่สมจริงสุดๆ
ในการทำงานเพลง เราใช้ปลั๊กอินกลองผ่านการส่งสัญญาณมิดี้ไปที่ปลั๊กอิน โดยมีหลากหลายวิธีที่เราจะโปรแกรมกลองได้ เช่น การใช้เม้าส์เขียนโน้ต การเล่นด้วย Keyboard Controller, การตีด้วยกลองไฟฟ้า
บทความตอนนี้ เราจะมาทดสอบการใช้งาน Alesis Strike Multipad ในการโปรแกรมมิดี้เพื่อใช้กับปลั๊กอินกลองในการทำเพลง
ทำความรู้จัก Alesis Strike Multipad
ในช่วงไม่กี่ปีนี้ Alesis มีสินค้ากลองไฟฟ้าออกสู่ตลาดหลากหลายรุ่น หลายคนเข้าใจว่า Alesis เพิ่งเริ่มเข้ามาลุยตลาดสินค้ากลองไฟฟ้า เป็นหน้าใหม่ของวงการกลองไฟฟ้า
แต่หากย้อนไปให้ไกลสักหน่อย จะพบว่า Alesis นั้นมีชื่อเสียงในการทำกลองไฟฟ้าและ Drum Machine มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุค 90 โดยมีสินค้าที่ถือเป็นที่จดจำอย่าง SR-16 และ DM4 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเพลง
Alesis Strike Multipad เป็นกลองไฟฟ้าแบบ Multipad รุ่นที่ดีที่สุดของ Alesis มีแพดในการตี 9 แพด มีเสียงกลอง ลูป เพอคัสชั่น มาให้หลายพันเสียง ในเรื่องการใช้งานแค่เสียงที่มีมาให้ในตัวนั้น ก็มากพอใช้และครอบคลุมแนวดนตรีทุกแนว และยังสามารถเพิ่มเติมเสียงจากภายนอกเข้าไปได้ด้วย
ผมลองเปิดเล่นเสียงต่างๆ ในตัว Alesis Strike Multipad เสียงต่างทำมาได้ดี เสียงแต่ละเสียงปรับแต่งได้อย่างละเอียดทั้งความดัง การแพน การใช้เอฟเฟค
ส่วนเรื่องน้ำหนักการตี เปิดเครื่องมาครั้งแรก ผมรู้สึกว่าการตีนั้น ต้องใช้แรงในการตีมาก จึงได้ลองเจาะเข้าไปดูในหน้า Edit ก็พบว่าในแต่ละแพด เราสามารถตั้งค่าการรับน้ำหนักการตีได้หลากหลาย ให้สัมพันธ์กับแรงตีของคนแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน พอได้ปรับน้ำหนักการตีให้เหมาะกับตัวเอง ก็ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
การใช้งาน Alesis Strike Multipad แบบกลองไฟฟ้าเพื่อนำไปเล่นสดนั้น จากจำนวนเสียงที่มีมาให้และความสามารถในการ Edit ค่าต่างๆ ได้อย่างละเอียด ทำให้เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ามากในการนำไปใช้งาน
ใช้ Alesis Strike Multipad ร่วมกับปลั๊กอินเสียงกลอง
การนำ Alesis Strike Multipad ไปใช้เล่นสดนั้น ไม่มีข้อให้ต้องสงสัยในเรื่องคุณภาพ แต่พอคิดว่าจะเอากลองไฟฟ้ามาใช้กับปลั๊กอินกลองเพื่อทำเพลง ก็จะมีคำถามตั้งต้นหลายๆ คำถามเกิดขึ้น เช่น น้ำหนักการตีจะสัมพันธ์กับตัวปลั๊กอินไหม ชิ้นกลองที่ตีที่แพดเสียงจะตรงกับที่ต้องการให้ออกในปลั๊กอินไหม หรือรวมเป็นคำถามเดียวก็คือ จะใช้กลองไฟฟ้ามาตีใช้ร่วมกับปลั๊กอิน จะได้ความเป็นธรรมชาตืเหมือนตีกลองจริงไหม จะคุ้มค่าการลงทุนไหม
ผมต่อ Alesis Strike Multipad กับโปรแกรมคิวเบส โดยเราสามารถเลือกต่อส่งสัญญาณมิดี้จาก Strike Multipad เข้าสู่โปรแกรมทำเพลงได้สองช่องทางคือทางช่องต่อแบบ USB และช่องต่อ MIDI Out ผมใช้ช่องต่อ MIDI Out ต่อสายมิดี้ไปเข้าที่ช่อง MIDI In ของ Audio Interface
ผมลองใช้ Alesis Strike Multipad กับปลั๊กอิน EZ Drummer ในการลองเล่นครั้งแรก ก็เกิดอาการเรื่องน้ำหนักการตี ไม่สัมพันธ์กับเสียงที่ต้องการคือ ต้องตีแรงมากๆ ถึงจะได้น้ำหนักกลองที่ดังปกติ รวมถึงเสียงที่ตีในแพดกับเสียงในโปรแกรม ยังไม่ได้ถูกจัดวางตามความต้องการของคนตี การต่อสายแล้วเล่นเลย ก็จะมีเรื่องของแพดที่มี ตีกลองได้ไม่ครบชุด เช่นไม่มีเสียง Hihat ไม่มีเสียงฉาบ
ผมจึงเริ่ม Edit ค่าต่างๆ เพื่อให้การทำงานของกลองไฟฟ้าสัมพันธ์กับปลั๊กอิน และนี่คือข้อดีสุดๆ ของ Alesis Strike Multipad นั่นคือในการ Edit ตั้งค่าต่างๆ นั้น คุณทำได้กับแต่ละแพดแยกอิสระจากกัน ทำให้คุณตั้งค่าแพดแต่ละอันได้ละเอียดสุดๆ
เช่นการตั้งค่าการรับน้ำหนักการตี กลองไฟฟ้าระดับเริ่มต้นมักตั้งได้ไม่กี่ระดับหรือตั้งไม่ได้เลย รวมถึงใช้การตั้งค่าเดียวกับกลองทั้งชุด ทำให้การรับน้ำหนักการตีทำได้แบบเดียว ที่นี้จะเกิดปัญหาว่าในการตีกลองจริง เราตีด้วยน้ำหนักหรือความรู้สึกในแต่ละมือไม่เท่ากัน เช่น ตี hihat เบากว่า Snare แต่ตัวกลองรับน้ำหนักได้ไม่ละเอียด ก็เกิดอาการเสียงขาดเสียงหายจากการตีเบาได้ รวมถึงความเป็นธรรมชาติในการตอบสนองน้ำหนักก็เสียไป
การที่ Alesis Strike Multipad สามารถตั้งค่าการรับน้ำหนักได้แยกกันในแต่ละแพดจึงทำให้สะดวกมากตั้งแต่ภาพรวมของการตีในแต่ละคนว่า บางคนชอบตีแรงๆ บางคนชอบตีเบาๆ เราสามารถตั้งค่าการรับน้ำหนักการตีเพื่อตอบสนองการเล่นเสียงกลองได้หลายระดับ ซึ่งการปรับตรงนี้ต้องใช้เวลาพอควร เพื่อปรับหาน้ำหนักในการตีที่เหมาะสมที่ทำให้เรารู้สึกว่า การตีของเรา ได้ความแรงของค่า Velocity ที่สอดคล้องกับเสียงที่ได้ยิน
เรื่องต่อมาที่ต้องทำก็คือ การตั้งค่า MIDI Out ให้แพดแต่ละใบ แทนค่าโน้ตแต่ละตัว โดย Alesis Strike Multipad ใช้ระบบการแทนค่าโน้ตเป็นตัวเลข เช่น ต้องการให้แพดเล่นเป็นโน้ต C1 ซึ่งเป็นเสียงกระเดื่องบนปลั๊กอิน ก็ต้องตั้งค่าโน้ตเป็นค่า 36 ต้องการเล่นโน้ต D1 ต้องตั้งค่าเป็นเลข 38 โดยแพดทั้ง 9 อัน สามารถตั้งค่าโน้ตได้ทั้งหมด และยังสามารถต่อ Pedal ได้อีกสองอัน และตั้งค่าโน้ตได้ ทำให้สามารถเล่นโน้ตจาก Alesis Strike Multipad ได้ถึง 11 ค่า ซึ่งถ้าจัดวางเรียงตำแหน่งการตีได้ดี ก็มีชิ้นกลองเท่ากลองชุดปกติได้เลย
เมื่อตั้งค่าต่างๆ จนการตีสัมพันธ์กับเสียงจากปลั๊กอิน ก็เริ่มใช้งานได้ ซึ่งผมเองไม่ได้เล่นกลองเป็นหลัก พอเริ่มติก็จะเกิดการติดขัดเรื่องตำแหน่งการวางมือและจัดลำดับการตีบ้าง ตรงนี้เลยเหมือนต้องเป็นการฝึกเรียนรู้ใหม่ ว่านี่คือเครื่องดนตรีอีกแบบที่ไม่ได้วางมือเหมือนการตีกลองจริงๆ พอฝึกตีไปสักพัก ก็เริ่มตีได้ดีขึ้น
เมื่อลองใช้งานไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยความสามารถในการตีของผมที่ไม่มากเท่าไหร่ ก็ยังบอกได้ว่าการโปรแกรมด้วยการตีจริงจากกลองไฟฟ้าแบบนี้ สิ่งที่ได้มาคือ Groove ในการตี ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดได้ยาก ถ้าเราใช้การโปรแกรมด้วยการเขียนด้วยเม้าส์ ซึ่งจังหวะที่เราสร้างจะคงที่เป็นหุ่นยนต์ การตีจริงชดเชยตรงนี้คือ จังหวะของมนุษย์จริงๆ นั้นไม่คงที่ และการตีแต่ละครั้ง น้ำหนักมือหนักเบาไม่เท่ากัน เมื่อได้การตอบสนองที่ดีและปลั๊กอินที่แยกเสียงจากแต่ละ velocity ได้ละเอียด ก็ทำให้การตีนั้นมีความเป็นธรรมชาติ เข้าใกล้กับการตีชิ้นกลองจริงๆ
กลับมาที่การตอบคำถามว่า การลงทุนซื้อกลองไฟฟ้าเอามาใช้ทำเพลง เพื่อใช้ร่วมกับปลั๊กอินเสียงกลอง เป็นเรื่องคุ้มค่าและได้ความเป็นธรรมชาติชดเชยการต้องอัดกลองจริงได้หรือไม่
คำตอบสำหรับมุมผมเองคือ ถ้ากลองไฟฟ้านั้น สามารถปรับน้ำหนักตอบสนองการตีได้เข้ากับคนตี และมีการฝึกฝนที่ดีในการตีกลองไฟฟ้า การใช้กลองไฟฟ้าทำเพลง เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและได้ความเป็นธรรมชาติจากการตีได้แน่นอน ข้อสำคัญคือความละเอียดเรื่องการตอบสนองน้ำหนักการตีคือจุดสำคัญ ซึ่ง Alesis Strike Multipad ทำเรื่องนี้ได้ดีมาก
ขอให้สนุกกับการตีกลองครับ
————————————————————
ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจ “มนุษย์ทำเพลง”แนะนำการทำเพลงและสอนทำเพลงแบบออนไลน์ ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/