บันทึกเสียงแบบครบทั้งวง โดยใช้ Mixer
 

AW_Online_AW_1040_x_1040_copy.jpg  
รีวิวตอนนี้ เป็นการทดสอบใช้งาน Tascam Model 12 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่างในงานบันทึกเสียง  Tascam เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์บันทึกเสียงที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคการบันทึกเสียงแบบอนาล็อก และพัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นหนึ่งในแบรนด์มาตรฐานสำหรับงานบันทึกเสียงแบบดิจิตัล Model 12 คือการรวบรวมความเชี่ยวชาญในด้านเสียงของ Tascam มารวมไว้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว โดย Tascam เรียก Model 12 นี้ว่าเป็น “All-in-One production Mixer” – เป็นมิกเซอร์ที่รวมความสามารถหลากหลายไว้ โดยการรวม Mixer, Audio Interface, Audio Recorder, DAW Controller มาไว้บนตัว Model 12 นี้ ความประทับใจแรก ผมเริ่มทดสอบใช้งาน Model 12 โดยมีความประทับใจแรกที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มใช้งานคือ 1. การออกแบบตัวเครื่องที่มีขอบเป็นไม้ ทำให้ได้ความรู้สึกแบบมิกเซอร์ของ Tascam ในยุคอนาล็อก ตรงนี้เป็นรายละเอียดเล็กน้อยแต่เห็นแล้วรู้สึกดี มีความย้อนยุค และตัวขอบไม้แบบนี้ก็ช่วยป้องกันตัวอุปกรณ์ได้เวลาต้องเคลื่อนย้าย 2. คุณภาพเสียงที่ดี โดยแค่ลองเปิดเพลงที่คุ้นเคยฟัง ก็รู้สึกได้ทันทีว่า Model 12 นั้น เล่นเสียงต่างๆ ออกมาได้แบบดีมาก ให้รายละเอียดเสียงที่ดี มีความลึกความชัดของเสียง การฟังเพลงผ่าน Model 12 จึงเป็นเรื่องที่ประทับใจมาก 3. ให้เสียงในแบบ “Tascam” – ตรงนี้เป็นความรู้สึกของผมเองที่เคยได้ใช้อุปกรณ์ของ Tascam มาพอควร แล้วรู้สึกถึงเอกลักษณ์แบบหนึ่งของ Tascam คือการให้เสียงที่ได้ไม่จัดจ้านหรือใหญ่หนา มีความชัดเจนแต่ไม่ฟุ้ง ซึ่งการฟังเสียงจาก Model 12 ก็ให้ความรู้สึกคุ้นเคยในแบบนั้นทันที
AW_Online_AW_1040_x_1040_copy_2.jpg  
ทีนี้ มาดูความสามารถในด้านต่างๆ ที่ Model 12 ทำได้กัน Mixer Model 12 นั้นเป็นมิกเซอร์ที่ให้ทุกอย่างมาแบบพร้อมลุย สำหรับจัดการเสียงในงานแสดงสด มีช่องรับสัญญาณไมค์ได้พร้อมกัน 8 ตัว มีช่องสัญญาณมิกเซอร์รวมทั้งหมด 10 ช่อง (8 Mono, 2 Stereo) โดยในแต่ละช่องสัญญาณ มีปุ่มหมุนปรับการใช้ Compressor, มี EQ ที่ปรับได้ 3 ย่านความถี่  ในด้าน Output มีช่องส่งสัญญาณมาให้ทั้ง Main Out, Sub Out, Aux1, Aux2 โดยเราเลือกให้สัญญาณมิกเซอร์แต่ละช่องไปออกที่ Output ตามที่เราเลือกได้  สิ่งที่พิเศษในการใช้งานแบบมิกเซอร์ คือการมีเอฟเฟกมาให้ โดยชนิดของเอฟเฟกที่มีได้แก่ Delay, Reverb, Chorus ถูกจัดมาเป็น Preset ให้เลือกใช้งานได้ 16 รูปแบบ โดยเราสามารถเลือกส่งเสียงแต่ละช่องของมิกเซอร์ ไปใช้เอฟเฟกได้ โดยเลือกที่การส่งสัญญาณไปที่ Aux2  อีกข้อหนึ่งที่ทำให้ Model 12 เป็นมิกเซอร์ที่ยืดหยุ่นในการทำงานมากก็คือการมี EQ มาให้สำหรับ Main Out ทำให้เราจัดการโทนเสียงโดยรวมของงานได้ การทำงานในแบบมิกเซอร์นั้น Model 12 ทำได้ดีไม่เป็นรองมิกเซอร์ในระดับราคาใกล้กัน คุณภาพเสียงจากไมค์ปรีที่ให้มานั้นดีมาก ข้อที่สะดวกมากอีกข้อคือ สามารถเล่นเสียงจาก SD Card ได้ และเล่นเสียงจากการต่อ Bluetooth ได้ การปรับค่าเอฟเฟกที่มีมาให้นั้น สามารถดูค่าการปรับแต่งจากหน้าจอได้ ทำให้ง่ายในการปรับค่า Audio Recorder Model 12 สามารถบันทึกเสียงลง SD Card ได้ โดยสามารถบันทึกได้รวมทั้งหมด 10 แทรค ตามจำนวนช่องสัญญาณบนมิกเซอร์ และบันทึกเป็น Stereo File จากการรวมเสียงทุกแทรคได้ด้วย การเป็น Audio Recorder ได้นี้ ทำให้ Model 12 เหมาะที่จะใช้บันทึกเสียงการแสดงสดแบบอัดเก็บเสียงยาวต่อเนื่อง หรือใช้ในกองถ่ายทำที่ต้องเก็บเสียงจากไมค์หลายๆ ตัวพร้อมกัน
AW_Online_AW_1040_x_1040_copy_3.jpg  
ออดิโออินเตอเฟส สิ่งที่ผมตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเสมอ เมื่อใช้มิกเซอร์ที่สามารถใช้เป็น Audio Interface ได้ ก็คือความสามารถในการเป็น Audio Interface นั้น มักจะเป็น “ของแถม”  คำว่า “ของแถม” ก็คือการให้มาแล้วใช้งานได้ไม่เต็มที่ เช่น การไม่มีไดรเวอร์ของตัวเอง การมีจำนวนช่องบนมิกเซอร์หลากหลายแต่ทำงานแบบ Audio Interface ได้แค่ 2 In/ 2 Out แต่สำหรับ Model 12 นั้น การเป็น Audio Interface คือจุดที่เด่นที่สุดอีกข้อหนึ่งเลย เพราะคุณใช้ Model 12 เป็น Audio Interface แบบ 10 In/ 10 Out อัดเสียงแบบแยกแทรคบนโปรแกรมทำเพลงได้เลย  Model 12 จึงเหมาะจะใช้เป็น Audio Interface ตัวหลักในห้องอัดได้ ด้วยคุณภาพไมค์ปรีที่ให้มานั้นดีมาก อัดเสียงได้พร้อมกันถึง 8 ไมค์ จึงใช้อัดกลองได้ DAW Controller เราสามารถใช้ Model 12 เป็น Controller ควบคุมการทำงานบนโปรแกรมทำเพลงต่างๆ ได้ โดยค่าที่ควบคุมได้ ได้แก่ การคุม Fader, การ Pan, Solo, Record Enable, Transport การใช้งานในรูปแบบ Controller นั้นทำได้ง่ายๆ เพราะ Model 12 นั้น ตั้งค่า Controller มาให้ใช้ได้กับโปรแกรมทำเพลงยอดนิยมในปัจจุบัน เช่น Logic Pro, Cubase, Cakewalk, Ableton Live ได้ทันที โดยที่ตัว Model 12 เราสามารถเลือกโปรแกรมที่ต้องการใช้งานได้ และที่โปรแกรมก็เลือกชนิดรีโมทให้ตรงกับ Model 12  ผมทดสอบระบบ Controller บน Cubase โดยที่ตัว Model 12 ผมเลือกเป็น Cubase (Mackie Control) ส่วนในโปรแกรม Cubase ผมเลือกชนิดรีโมทเป็น Mackie Control ก็สามารถใช้ Model 12 ควบคุมหน้ามิกเซอร์ของ Cubase ได้ทันที การควบคุมมิกเซอร์บนโปรแกรมนั้น ทำได้ทีละ 8 แทรค ตามจำนวน Fader บน Model 12 แต่เราสามารถเลื่อนกลุ่มแทรคที่เราจะควบคุมได้เป็นชุด เช่น ชุดแรกคุมแทรค 1-8 พอเลื่อนการควบคุมเป็นชุดต่อไป ก็จะควบคุมแทรคที่ 9-16 การเลือกกลุ่มแทรคที่ใช้ควบคุม ทำได้โดยการเลื่อนกลุ่มผ่านหน้าจอบน Model 12 นอกจากการใช้เป็น Controller ควบคุมมิกเซอร์บนโปรแกรมแล้ว เราสามารถใช้ Model 12 เป็นคอนโทรลเลอร์ควบคุมค่าบนโปรแกรมตามที่เรากำหนดได้ โดยการใช้การตั้งค่าแบบ Midi Learn บนตัวโปรแกรมร่วมกับ Model 12 การที่ Model 12 ทำหน้าที่ได้ทั้งเป็น Audio Interface และ Controller นั้น ทำให้ช่วยในการทำเพลงทั้งในด้านการบันทึกเสียงและทำงานมิกซ์ได้อย่างดี
AW_Online_AW_1040_x_1040_copy_4.jpg  
การเลือกโหมดการทำงาน การเลือกโหมดการทำงานบน Model 12 นั้นทำได้ง่าย โดยที่แต่ละช่องบนมิกเซอร์มีสวิตซ์ ให้เลือกว่าจะใช้ช่องมิกเซอร์นั้นทำหน้าที่อะไร โดยค่าที่มีให้เลือกได้แก่ – Live/Direct คือการใช้ช่องสัญญาณเป็นมิกเซอร์ และส่งเสียงในช่องนั้นเป็น Input สำหรับการใช้งานแบบ Audio Interface – PC คือการใช้ช่องสัญญาณเป็น Output สำหรับการใช้งานแบบ Audio Interface – MTR คือการใช้ช่องสัญญาณเพื่อบันทึกเสียงและเล่นเสียงลงบนระบบ Audio Recorder 
AW_Online_AW_1040_x_1040_copy_5.jpg  
บทสรุป Model 12 นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้หลากหลาย นำไปใช้ได้กับงานทางเสียงได้หลายรูปแบบ ทั้งการแสดงสด การบันทึกเสียง และสิ่งที่ Model 12 ทำได้ ในการเป็น Mixer, Audio Interface, Audio Recorder, DAW Controller นั้น ทำได้ดีแบบงานคุณภาพ ไม่ใช่การรวมอุปกรณ์หลากหลายไว้ใช้เผื่อขาด บทสรุปคือ ความเชี่ยวชาญทางด้านงาน Audio ของ Tascam ถูกรวมมาไว้ใน Model 12 นี้ทั้งหมด Model 12 จึงเหมาะเป็นอุปกรณ์ศูนย์กลางในการทำงานเสียงในสตูดิโออย่างยิ่ง  
———————————————————— ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจ “มนุษย์ทำเพลง”แนะนำการทำเพลงและสอนทำเพลงแบบออนไลน์ ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/  
 

ใส่ความเห็น