ระบบ AIR บนไมค์ปรี คืออะไร


ออดิโออินเตอร์เฟสในกลุ่ม Scarlett จาก Focusrite นั้น ได้รับความนิยมและมียอดขายดีในระดับโลกมาตลอด และในปี 2019 นี้ ก็ได้พัฒนากลุ่มสินค้านี้จนมาถึงรุ่นที่ 3 (3rd Generation/3rd Gen)

จุดขายสำคัญของออดิโออินเตอร์เฟสจาก Focusrite ในทุกรุ่น นับตั้งแต่เริ่มทำสินค้าด้านนี้ก็คือการนำเทคโนโลยี Microphone Preamp(ไมค์ปรี) ที่เป็นสินค้าหลักของ Focusrite มาตลอดหลายสิบปี และได้รับความเชื่อถือในวงการบันทึกเสียง นำมาใช้กับออดิโออินเตอร์เฟส ทำให้ออดิโออินเตอร์เฟสจาก Focusrite ได้รับการยอมรับในเรื่องการมีไมค์ปรีคุณภาพดีมาให้

Scarlett เป็นกลุ่มสินค้าออดิโออินเตอร์เฟสในระดับเริ่มต้นจนถึงระดับอาชีพ มีสเปคของจำนวน Input และ Output ให้เลือกหลากหลายรุ่นตามความต้องการใช้งาน รองรับความต้องการของงานได้ตั้งแต่งานแบบอัดเสียงทีละไมค์ จนถึงงานที่ต้องการการอัดจากไมค์พร้อมกันหลายๆ ไมค์ จึงเป็นที่นิยมทั้งผู้ทำเพลงระดับเริ่มต้น จนถึงสตูดิโอขนาดใหญ่

 

การมาถึงของ Scarlett 3rd Gen พร้อม “Air” ไมค์ปรีแบบใหม่

Scarlett รุ่นก่อนหน้านี้ (2nd Gen) เป็นออดีโออินเตอร์เฟสที่มียอดขายที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับทั้งเรื่องเสียงที่ดี ไมค์ปรีคุณภาพยอดเยี่ยม แล้วต้นปี 2019 ทาง Focusrite ก็ประกาศออก Scarlett 3rd Gen คำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายคือ “ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว พี่ออกรุ่นใหม่ มีอะไรที่ดีขึ้น?”


AW_Online-05.jpg

มองแบบการตลาด การออกสินค้ารุ่นใหม่ของสินค้าทั่วไป อาจทำให้ยอดขายกลับมาดีขึ้น ซึ่งแม้ Scarlett 2nd Gen จะเป็นออดิโออินเตอร์เฟสที่ขายดีอยู่แล้ว แต่ก็อาจถึงเวลาให้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นการซื้อ ซึ่งถ้าแค่มองในจุดนี้แล้วดันสินค้ารุ่นใหม่ออกมา โดยปรับปรุงจากของเก่าเล็กน้อย ก็คงเป็นเรื่องทำร้ายจิตใจผู้ใช้เดิมและไม่เร้าใจผู้ซื้อใหม่นัก เพราะของเดิมนั้น “ดีมากๆ” การออกของใหม่มาจึงต้อง “ดีขึ้นจริงๆ”

ครั้งแรกที่ผมได้ข่าวจุดขายสำคัญของ Scarlett 3rd Gen คือมีไมค์ปรีแบบใหม่ที่ใช้ชื่อเรียกว่า “Air” หรือสรุปความได้ว่า Scarlett 3rd Gen คือ Scarlett รุ่นใหม่ที่มีไมค์ปรีดีกว่า 2nd Gen ผมยอมรับว่ารู้สึกเฉยๆ มาก ความคิดในหัวคือ “พี่ Focusrite จะเล่นมุกเดิมๆ ในการออกของใหม่แบบนี้ตลอดไม่ได้นะ ตอนเปลี่ยนจาก 1st Gen มา 2nd Gen จุดขายใหญ่ๆ ก็คือการมีไมค์ปรีที่ดีขึ้น (ซึ่งก็ดีขึ้นจริง) แล้วพอพี่จะออก 3rd Gen พี่จะมาใช้วิธีซ้ำๆ แค่ทำไมค์ปรีดีขึ้น แบบนี้พี่ไม่ได้กินตังค์ผมหรอก” นี่คือเสียงความคิดในหัวจากผมที่เป็นเจ้าของ Scarlett 6i6 2nd Gen หรือมองแบบง่าย ผมมี Scarlett 2nd Gen ใช้อยู่แล้ว แค่บอกว่ามีของใหม่ออกมาแล้วไมค์ปรีดีขึ้น มันดูน้อยไปที่จะรู้สึกอยากเปลี่ยนออดิโออินเตอร์เฟส

นั่นคือมุมมองของผมในแง่ที่เป็นผู้ใช้ Scarlett อยู่แล้วคือ 2nd Gen ก็ดีมากใช้ได้ยาวๆ การมาถึงของ 3rd Gen ไม่ได้สร้างความเร้าใจอะไร แต่สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อออดิโออินเตอร์เฟสใหม่ แล้วมอง Scarlett ไว้ การมาถึงของ 3rd Gen ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นอีกมาก

 

ทดลองใช้งาน Focusrite Scarlett 4i4 3rd Gen – “Air” คืออะไร

พอ Scarlett 3rd Gen ออกมา ก็ได้รับคำชมจากการรีวิวมากมาย จนผมเองเริ่มสงสัยว่าแค่ไมค์ปรีดีขึ้น จะตื่นเต้นกันทำไม แล้วก็ได้โอกาสดีที่ทางโปรปลั๊กอินส่ง Focusrite Scarlett 4i4 3rd Gen มาให้ลองใช้งาน คราวนี้จะได้หายสงสัยว่าเค้าตื่นเต้นอะไรกัน


AW_Online-06.jpg

จากภายนอก Scarlett 4i4 3rd Gen  คงเอกลักษณ์ความเป็น Scarlett ไว้ครบถ้วน ด้วยตัวเครื่องสีแดงเข้ม ความแข็งแรงของวัสดุ ปุ่มหมุนต่างๆ คนใช้ Scarlett อยู่แล้วนั้นคุ้นเคยดี

ความหมายของคำว่า 4i4 ในชื่อรุ่นนั้น ก็คือจำนวน Input และ Output ที่รุ่นนี้มีช่องต่อ Input และ Output แบบอนาล็อกมาให้อย่างละ 4 ช่อง ไม่มีช่องต่อแบบดิจิทัล มีช่องต่อมิดี้ In/Out ต่อไมค์พร้อมกันได้สองช่อง โดยหัวต่อเป็นแบบ Combo Connector ที่รูตรงกลางสามารถเสียบสัญญาณได้ทั้งแบบ Line และ Instruments (เสียบกีต้าร์และเบสได้โดยตรง) ซึ่งช่องต่อต่างๆ ที่ให้มานั้น ครบถ้วนตามการใช้งานที่ถือเป็นมาตรฐานของออดิโออินเตอร์เฟสในปัจจุบัน

การใช้งานในด้านการฟังนั้น ผมฟังเพลงต่างๆ เทียบกับ Scarlett 6i6 2nd Gen ของผมเองแล้วรู้สึกว่าเสียงไม่ต่างกันมาก แบบแยกความต่างยาก นั่นคือในการฟัง Scarlett รุ่นใหม่ให้เสียงมีคุณภาพดีไม่ต่างจากรุ่นเดิม

แล้วก็มาถึงข้อข้องใจ ในจุดขายหลักของ 3rd Gen คือระบบไมค์ปรี “Air” ว่าคืออะไรกันแน่ แล้วดีขนาดไหน ถึงได้รับการชูให้เป็นจุดขาย

ทีนี้ย้อนกลับไปหน่อยว่าตอนได้ยินคำว่า “Air” ที่เป็นเทคโนโลยีไมค์ปรีแบบใหม่ใน Scarlett 3rd Gen นั้น ภาพที่ผมนึกออกแบบที่คิดเองคือ น่าจะเป็นการเพิ่มความใสหรือเสียงซ่าในความถี่สูงๆ ให้เหมือนการอัดในห้องกว้างๆ แล้วมีเสียงอากาศเข้าไปในไมค์เบาๆแบบที่ปลั๊กอินจำลองเสียงเทปทำได้ การเพิ่มลักษณะเสียงนี้ เพื่อลดความแห้งของเสียงจากการอัดแบบดิจิทัล ให้ได้ความรู้สึกเป็นการอัดแบบอนาล็อกมากขึ้น แต่นั่นคือสิ่งที่ผมคิดไปเอง

การเลือกใช้ไมค์ปรีบน Scarlett รุ่นใหม่ สามารถเลือกเปิด/ปิด ระบบ “Air” ได้ ผมลองอัดเสียงเปรียบเทียบระหว่างการใช้และไม่ใช้ระบบ “Air” 

ไมค์ปรีที่มากับ Scarlett นั้นขึ้นชื่อเรื่องการให้เสียงที่สะอาดชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่ง Scarlett 3rd Gen ก็ยังให้เสียงในโทนเดิม พอเปรียบเทียบของเดิมกับของใหม่ ตรงนี้ความต่างกันยังน้อย คือคุณภาพดีในแบบที่ Scarlett เป็น

เมื่อลองใช้งานไมค์ปรีแบบ “Air” ก็พบว่าสิ่งที่ผมเข้าใจแต่เดิมเกี่ยวกับ “Air” นั้นผิดหมด เพราะความดีขึ้นของระบบ “Air” ไม่ใช่การเปลี่ยนลักษณะเสียงจากไมค์ปรีแบบเดิมด้วยการใส่ EQ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนการใช้ไมค์ปรีคนละแบบคนละตัวไปเลย

Focusrite พูดถึงระบบ “Air” ไว้ว่าเป็นการถอดลักษณะเสียงจากไมค์ปรีรุ่น ISA ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพเสียง มาใส่ไว้ในออดิโออินเตอร์เฟส ทำให้ได้เสียงแบบไมค์ปรีคุณภาพสูง ซึ่งพอผมทดสอบอัดเสียงในระบบ “Air” แล้ว ก็รู้สึกถึงความแตกต่างจากเสียงจากการอัดโดยไม่ใช้ระบบ “Air” ชัดเจน เสียงที่ได้มีมิติ มีความระยิบระยับของหางเสียงและความชัดเจนของความถี่สูงมากขึ้น ความทึบของเสียงน้อยลง เสียงไม่ได้รู้สึกบีบอัดแต่ก็มีมวลเสียงที่ดีเยี่ยม สรุปโดยรวมคือ เสียงที่อัดจาก “Air” มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นแบบชัดเจนแบบทำให้เสียงที่อัดฟังดูแพงขึ้น

พอได้ลองระบบ “Air” แล้ว ก็เข้าใจได้ทันที ว่าการอัปเกรดเปลี่ยนรุ่นของ Scarlett ครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญมาก ที่จะยกระดับคุณภาพการบันทึกเสียงจากออดิโออินเตอร์เฟสราคาระดับเริ่มต้นไปอย่างมากมาย

อย่างที่บอกว่าระบบ “Air” ทำให้เหมือนมีไมค์ปรีสองตัวให้เลือกใช้งานบน Scarlett ซึ่งเราปรับเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของแหล่งเสียง เสียงร้องบางแบบอย่างเพลงร็อคกระแทกกระทั้น เสียงร้องฮิปฮอปรัวๆ อาจต้องการเสียงที่ชัดเจนไม่ฉูดฉาดแบบ Scarlett เดิมๆ ในขณะที่เสียงร้องแนวดีว่าโชว์พลังเสียง หรือเสียงร้องแนวป๊อปสดใส การใช้ระบบ “Air” อาจเหมาะกว่าในการเก็บรายละเอียดเสียง การมีไมค์ปรีให้เลือกใช้หลากหลายถือเป็นข้อได้เปรียบ

ผมเองประทับใจในคุณภาพระบบ “Air” นี้มาก เพราะดีในแบบที่เหมือนได้ไมค์ปรีราคา 3-4 หมื่น แต่อยู่บนออดิโออินเตอร์เฟสมาเลย และจากเดิมที่รู้สึกว่าการมาของ Scarlett 3rd Gen ทำอะไรผมไม่ได้หรอก ตอนนี้กลายเป็นว่า อยากเปลี่ยนมาใช้ระบบ “Air” มากๆ

 

ของใหม่ทำไมราคาสูงกว่าของเดิม

หลายคนอาจรู้สึกว่า Scarlett รุ่นใหม่ มีราคาสูงขึ้นกว่า Scarlett รุ่นก่อน เมื่อเทียบจากสเปคในรุ่นใกล้ๆ กัน เช่น รุ่น Solo, 2i2 ราคาสูงกว่าเดิม

ซึ่งราคาที่ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยนี้ เป็นไปตามสิ่งที่ได้มากขึ้น การได้มากขึ้นอย่างรุ่น Solo, 2i2 ก็คือการมีระบบ “Air” ซึ่งเท่ากับการมีไมค์ปรีสองชุด และจุดสำคัญคือใน Scarlett 3rd Gen นี้ ทุกรุ่นใช้วงจรไมค์ปรีและการแปลงเสียง A/D, D/A แบบเดียวกันทั้งหมด โดยดูจากสเปคของแต่ละรุ่นไม่ว่าจะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ตัวเลขการวัดค่าสเปคต่างๆ นั้น คือตัวเลขชุดเดียวกันทั้งหมด ซึ่งตรงนี้จะต่างจาก Scarlett 2nd Gen ที่รุ่นเล็กอย่างรุ่น Solo, 2i2 จะใช้วงจรต่างจากรุ่นใหญ่ไป (ไมคปรีคนละตัว)

อีกมุมหนึ่งจะมองว่า Scarlett รุ่นใหม่ราคาสูงขึ้นก็อาจจะไม่ได้ โดยเปรียบเทียบ Scarlett 6i6 2nd Gen ของผมเอง กับ Scarlett 4i4 3rd รุ่นที่ได้มาลองใช้งาน สองตัวนี้มีราคาขายเท่ากัน ถ้ามองแค่ตัวเลขรุ่นอาจมองว่ารุ่นใหม่แพงกว่า แต่ถ้าวัดสเปคแล้ว สองตัวนี้มี Input/output แบบอนาล็อกเท่ากัน คืออย่างละ 4 ช่อง สิ่งที่หายไปในรุ่น 4i4 ก็คือช่องต่อแบบดิจิทัลและช่องต่อหูฟังช่องที่สอง แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาคือ ระบบไมค์ปรีแบบ “Air” และขนาดที่เล็กลง ดังนั้นถ้าเทียบตามการใช้งาน รุ่นใหม่ก็ไม่ได้แพงขึ้น


AW_Online-07.jpg

บทสรุป

ด้วยชื่อเสียงของ Scarlett นั้น คุณมั่นใจในคุณภาพได้อย่างดี และการมาถึงของ Scarlett 3rd Gen เป็นก้าวที่สำคัญที่ทำให้การอัดเสียงมีคุณภาพดียิ่งขึ้น การได้ใช้ไมค์ปรีแบบ “Air” นั้น เห็นผลต่างของคุณภาพเสียงชัดเจน ไม่ว่าคุณกำลังมองหาออดิโออินเตอร์เฟสตัวแรกหรือกำลังจะเปลี่ยนออดิโออินเตอร์เฟสตัวใหม่ Focusrite Scarlett 3rd Gen เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าแน่นอนครับ

ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ



 

———————————————————-
ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจ “มนุษย์ทำเพลง”แนะนำการทำเพลงและสอนทำเพลงแบบออนไลน์ ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

 








Logo_proplugin.png
Facebook-ProPlugin.pngInstagram.pngTwitter.pngYoutube.pngLine.png



 


 

ใส่ความเห็น