เลือก Audio Interface อย่างไร ให้เหมาะกับการบันทึกเสียงกีต้าร์และเบส
การบันทึกเสียงกีต้าร์และเบสในปัจจุบัน มีทางเลือกในการทำงานมากมาย เช่น การอัดจากแอมป์แล้วใช้ไมค์จ่อ การอัดผ่าน Multi Effect ที่มีระบบจำลองตู้แอมป์ แต่วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับชาวโฮมสตูดิโอ ก็คือการต่อสัญญาณตรงเข้าสู่ออดิโออินเตอร์เฟส อัดเสียงกีต้าร์แบบคลีนไว้ แล้วค่อยปรับแต่งเสียงด้วยปลั๊กอินจำลองแอมป์และเอฟเฟค จุดสำคัญในการอัดกีต้าร์แบบ Direct หรือต่อตรงเข้าสู่ออดิโออินเตอร์เฟส จึงเป็นเรื่องคุณภาพของตัวช่องรับเสียงกีต้าร์บนออดิอินเตอร์เฟส ซึ่งออดิโออินเตอร์เฟสที่มีขายในตอนนี้แทบทั้งหมด สามารถต่อกีต้าร์อัดตรงได้ แต่คุณภาพเสียงที่ได้แตกต่างกันมากในแต่ละตัว ตัวที่ได้คุณภาพในระดับมาตรฐาน แม้เสียงเป็นการอัดตรงโดยไม่ผ่านแอมป์ แต่ตัวเสียงที่ได้จะมีมวลมีความหนาแน่น มีความอิ่มของเสียง ซึ่งนำไปปรับแต่งต่อได้ง่าย ในขณะที่ออดิโออินเตอร์เฟสที่คุณภาพน้อย เสียงกีต้าร์ที่ได้จะแห้งกรอบแหลม เป็นเหมือนเสียงดีดลวด และนำไปปรับแต่งต่อยากมาก ดังนั้นการเลือกออดิโออินเตอร์เฟสเพื่อใช้อัดกีต้าร์แบบต่อตรง มีหลักสำคัญในการเลือกคือ ต้องเลือกออดิโออินเตอร์เฟสที่ทำวงจร D.I (Direct) มาเพื่อรับเสียงกีต้าร์แล้วได้คุณภาพในการอัดที่ดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดขายด้วย ออดิโออินเตอร์เฟสยี่ห้อมาตรฐานจึงมักจะมีคำโฆษณาหรือบอกสเปคไว้ชัดเจน ว่ารองรับการต่อกีต้าร์อัดตรง และให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพในการอัดแบบต่อตรงเทียบเท่าจากไมค์ปรี ทดสอบ IK Multimedia : Axe I/O  IK Multimedia เป็นผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงมานานเรื่องการทำปลั๊กอินจำลองแอมป์และอุปกรณ์เพื่ออัดกีต้าร์โดยตรง โดยมีสินค้าในกลุ่ม iRig มากมายหลายตัว ที่ใช้เพื่อเสียบกีต้าร์ต่อตรงสำหรับการบันทึกเสียง
AW_Online-05.jpg
Axe I/O คือออดิโออินเตอร์เฟสรุ่นใหญ่สุดของ IK Multimedia ที่มีช่องต่อมาครบถ้วนสำหรับงานโฮมสตูดิโอ ทั้งช่องต่อไมค์, Line in และจุดสำคัญคือช่องต่อกีต้าร์ ที่รวมความชำนาญของ IK Multimedia ในด้านการบันทึกเสียงกีต้าร์กว่า 20 ปี มาใส่ไว้ใน Axe I/O Axe I/O สามารถต่อสัญญาณเข้าได้พร้อมกัน 2 ช่องสัญญาณ โดยเลือกชนิดแหล่งสัญญาณได้ 3 รูปแบบคือ Mic, Line, Instruments มี 4 Output และข้อพิเศษคือมี Output สำหรับส่งเสียงกีต้าร์ไปที่แอมป์กีต้าร์แยกออกมาอีก 1 ช่อง ผมทดสอบ Axe I/O โดยเริ่มจากใช้ฟังเพลงทั่วไปและฟังผลงานที่เคยทำมา ก็พบว่าในการฟัง Axe I/O ให้คุณภาพเสียงในการฟังที่ดีทั้งจากช่อง Output และช่อง Headphone ด้วยการชูเรื่องคุณภาพในการอัดกีต้าร์เป็นจุดขาย ผมจึงทดสอบอัดเสียงจากการต่อไมค์อัดเสียงร้องก่อนเป็นอันดับแรก เพราะด้วยความเป็นออดิโออินเตอร์เฟสสำหรับโฮมสตูดิโอ ให้อัดเสียงกีต้าร์ดีแค่ไหน แต่ถ้าอัดเสียงจากไมค์แล้วไม่ได้คุณภาพ ก็ถือว่าแทบจะใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงทดสอบลองจุดที่กังวลใจก่อนเลยว่าการอัดไมค์จาก Axe I/O จะทำได้คุณภาพดีแค่ไหน
AW_Online-06.jpg
ผมลองอัดทดสอบไมค์ ซึ่งความรู้สึกที่ได้ก็คือไมค์ปรีของ Axe I/O ให้เสียงสะอาดหนักแน่น เสียงไม่ฉูดฉาดบาดหู ซึ่งถือว่าคุณภาพใช้ได้ อัดแล้วรู้สึกถึงไดนามิกส์ของเสียงที่ดี และได้ความสะอาดของเสียง การทดสอบต่อมา คือการอัดกีต้าและเบส ผ่านช่องต่อตรง ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของ Axe I/O ความต่างที่สำคัญของช่อง D.I บน Axe I/O ที่ต่างกับออดิโออินเตอร์เฟสอื่นๆ ก็คือ การปรับค่าต่างๆ ได้หลากหลาย ได้แก่ 1. สวิตช์ให้เลือกค่า Passive / Active (*ใช้ได้กับ Input1 เท่านั้น) ใช้ปรับให้สัญญาณเหมาะกับชนิดของปิ๊กอัพบนกีต้าร์ว่าเป็นปิ๊กอัพแบบ Active(ใส่ถ่าน) หรือ Passive
AW_Online-07.jpg
2. สวิตช์ให้เลือกวงจร D.I – โดย Axe I/O มีรูปแบบวงจร D.I ให้เลือกสองแบบคือแบบ Pure ที่ให้เสียงสะอาด รักษาคุณภาพเสียงกีต้าร์เดิมๆ ไว้ และแบบ JFET ที่ให้เสียงคมจัดจ้าน ชัดเจนกว่า  3. Z-TONE (*ใช้ได้กับ Input1 เท่านั้น) – เป็นการปรับค่าความต้านทานของช่อง D.I ทำให้โทนกีต้าร์เปลี่ยนไป เหมาะกับการใช้หาโทนเสียงกีต้าร์ในกรณีที่เสียงที่ได้มีความแหลมคมมากไปหรือบางไป
AW_Online-08.jpg
ผมลองต่อกีต้าร์ผ่าน Axe I/O โดยเลือกค่า Passive และ Pure แล้วปิดค่า Z-TONE ไว้ ซึ่งเสียงที่ได้มีความสะอาดได้มวล ได้ความอิ่มของกีต้าร์ การอัดแบบต่อตรงโดยไม่ปรับค่าอื่นๆ นั้น ก็ให้คุณภาพเสียงกีต้าร์ที่ดีแบบ D.I ดีๆ แล้ว ความสนุกและตื่นตาตื่นใจเริ่มต้นที่การลองปรับค่าอื่นอย่างการเปลี่ยนไปใช้วงจรแบบ JFET เสียงกีต้าร์จะได้ความคม ความจัดจ้านขึ้น ถ้าคนชอบโซโล่พุ่งๆ คมๆ หรือเล่นกีต้าร์แบบคอร์ดจิกๆ โหมดนี้เหมาะมาก แต่ผมเองชอบเสียงกีต้าร์กลมๆ อับๆ ไม่ใสมาก ผมจึงชอบการใช้วงจรแบบ Pure มากกว่า การปรับค่า Z-TONE กับตัวเสียง ยิ่งปรับมาก (หมุนตามเข็มนาฬิกา) ก็จะได้ความอับความทึบของเสียงมาก ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบเสียงแนววินเทจที่ต้องการความเก่า ผมเองเล่นแล้วสนุกกับการปรับค่านี้มาก เพราะทำให้ได้โทนกีต้าร์ที่ไม่ทันสมัยหรือ Hi-Fi มาก ได้ความขุ่นของเสียงแบบเก่าๆ สรุปคือการลองกับกีต้าร์นั้นเสียงคลีนที่อัด ได้คุณภาพดีตั้งแต่ต้นแม้ยังไม่ผ่านเอฟเฟคใดๆ ผมทดสอบด้วยเบสที่ใช้ปิ๊กอัพแบบ Active เสียงที่ได้ก็มีความเต็มความลึกของเสียงที่ดี ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือการรองรับการกระแทกของเสียงอย่างการเล่น Slap ตบสายทำได้ดี สัญญาณไม่เกิดการวูบวาบมากระหว่างการดีดกับการตบสาย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดีที่แตกต่างกับออดิโออินเตอร์เฟสอื่นๆ ที่ผมเคยเจอคือ สัญญาณการดีดกับการกระแทกจากการตบเบสจะต่างกันมาก ทำให้ก่อนเริ่มอัด ถ้าต้องใช้วิธีเล่นทั้งสองแบบ จะต้องตั้งความแรงสัญญาณเผื่อการกระแทกของเสียงตบสายด้วย ด้วยตัวคุณภาพของเสียงที่ได้ บวกกับการปรับค่าต่างๆ ที่ได้โทนของเสียงที่หลากหลาย ทำให้การอัดกีต้าร์ผ่าน Axe I/O เป็นเรื่องง่ายและสนุกมาก
AW_Online-09.jpg
เตรียมทุกอย่างมาให้พร้อม สำหรับคนเล่นกีต้าร์ นอกจากคุณภาพเสียงจากการอัดกีต้าร์ที่ดีมากแล้ว อีกความพิเศษมากๆ ของ Axe I/O ก็คือ การออกแบบเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับนักกีต้าร์แบบ “คิดมาให้หมด” เพื่อให้ได้การทำงานที่สะดวกและปรับการใช้งานได้หลากหลาย โดยสิ่งที่ Axe I/O มีให้สำหรับนักกีต้าร์ก็คือ 1. Amplitube 4 Deluxe – ปลั๊กอิน Amplitube นั้นสร้างชื่อเสียงให้กับ IK Multimedia มาอย่างยาวนาน ในฐานะหนึ่งในปลั๊กอินจำลองแอมป์และเอฟเฟคที่ดีที่สุดในโลก และ Axe I/O ก็แถม  Amplitube 4 Deluxe ที่มีราคาขายอยู่ที่หลักหมื่นบาทมาให้ โดยมีแอมป์ให้เลือกใช้งานถึง 25 ตัว มีเอฟเฟคก้อนมากถึง 33 ก้อน รวมถึงความสามารถอื่นๆ ที่จัดมาเต็มให้ใช้ได้ทั้งกับงานมิกซ์และเล่นสด 2. ช่องต่อ Amp Out – เป็นช่อง Output ที่ใช้ต่อสัญญาณไปที่แอมป์กีต้าร์ภายนอกได้โดยตรง ทำให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ Axe I/O เป็นปรีแอมป์ปรับโทนกีต้าร์ก่อนส่งไปที่แอมป์, ใช้ในการอัดเสียงแบบรีแอมป์(Re-Amplification), ใช้เสียงจากปลั๊กอินอย่าง Ampitube เพื่อใช้ส่งไปออกแอมป์สำหรับเล่นสด โดยช่อง Amp Out นี้ สามารถเลือกปล่อยสัญญาณได้ทั้งจากการเสียบกีต้าร์ให้เสียงผ่านวงจร D.I แล้วส่งไปที่แอมป์ หรือในโปรแกรมทำเพลง เราเลือก Output 5 ของ Axe I/O ให้เป็นช่องส่งสัญญาณเสียงจากแทรคต่างๆ ไปออกที่ช่อง Amp Out ได้ ทำให้ใช้เสียงจากปลั๊กอินต่างๆ ไปออกที่แอมป์ได้ 3. การมีปุ่มตั้งค่าและช่องต่อ Controller ทั้งแบบสวิตช์และแบบมิดี้ – Axe I/O มีปุ่มคอนโทรลเลอร์แบบตั้งค่าได้มาให้ในตัวเป็นปุ่มหมุน อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่อง ทำให้เราใช้ปรับค่าที่ตั้งไว้ได้เหมือนฮาร์ดแวร์ รวมถึงยังมีช่องต่อ Foot Switch ได้อีกสองช่อง และมีช่องต่อมิดี้ด้วยทำให้ใช้คอนโทรลเลอร์แบบมิดี้ได้ การตั้งค่าปุ่มควบคุมต่างๆ นั้น ตั้งเพื่อใช้ควบคุมค่า CC ของมิดี้ เราสามารถใช้คำสั่ง Midi Learn บนโปรแกรมทำเพลง เป็นตัวจับคู่ปุ่มควบคุมกับคำสั่งการทำงานที่ต้องการได้ ด้วยความสามารถในการตั้งค่าการควบคุมนี้ ทำให้ Axe I/O เหมาะกับการนำไปใช้เล่นสด 4. มีจูนเนอร์ในตัว โดยกดเปิดจูนเนอร์ได้จากตัวเครื่องเลย Axe I/O คิดทุกอย่างมาให้เพื่อนักกีต้าร์ได้ทำงานง่าย ด้วยคุณภาพเสียงที่อัดได้และด้วยความสามารถต่างที่ Axe I/O ทำได้ จึงเป็นออดิโออินเตอร์เฟสตัวหนึ่งที่น่าสนใจที่สุด สำหรับการบันทึกเสียงกีต้าร์ ในปัจจุบัน  
———————————————————— ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจ “มนุษย์ทำเพลง”แนะนำการทำเพลงและสอนทำเพลงแบบออนไลน์ ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/  

Leave a Reply