วิธีการบันทึกเสียงนอกสถานที่ด้วย Portastudio

สำหรับบทความตอนนี้ เราจะมาทดลองใช้งาน Tascam DP-24SD Portastudio ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกเสียงแบบ Multiitrack โดยมองจากมุมการใช้งานนอกสถานที่ เช่น การบันเสียงการแสดงสด การซ้อมดนตรี และการใช้บันทึกเสียงทำเพลงนอกสตูดิโอ Image1.jpg

ทำความรู้จัก Portastudio

Portastudio เป็นชื่อกลุ่มสินค้าของ Tascam ที่มีมายาวนานกว่าสี่สิบปี แนวคิดหลักของการกำเนิด Portastudio ก็คือ เครื่องบันทึกเสียงแบบแยกแทรคที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย ที่คนทั่วไปมีกำลังซื้อได้  ย้อนไปใน 70s การบันทึกเสียงแบบแยกแทรคเสียง (Multitrack) ต้องบันทึกลง Reel Tape ซึ่งเป็นเทปขนาดใหญ่ และต้องใช้เครื่องบันทึกเสียงขนาดใหญ่ ที่ต้องสร้างห้องและพื้นที่เฉพาะสำหรับตัวเครื่อง และตัวเครื่องอัดยังต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ไมค์ปรี มิกเซอร์ ดังนั้นการจะบันทึกเสียงแบบแยกแทรคและอัดซ้ำแก้ไขได้ในยุคนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำในห้องบันทึกเสียงเท่านั้น Tascam ปฎิวัติวงการบันทึกเสียงด้วย Portastudio ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็ก ที่สามารถยกไปบันทึกเสียงที่ไหนก็ได้ โดยรวมช่องต่อไมค์และมิกเซอร์ไว้ในเครื่อง ให้ปรับแต่งเสียงได้ เป็นการรวมระบบการอัดไว้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว ข้อสำคัญมากของ Portastudio ในยุคแรก ก็คือการใช้เทปคาสเซ็ทซึ่งเป็นสื่อในการฟังเพลงสื่อหลัก ที่ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย มาใช้เป็นสื่อบันทึก โดยใช้แทรคบนคาสเซ็ทที่มีสองหน้า หน้าละสองแทรค มาใช้เป็นสื่อบันทึก ทำให้ได้เครื่องอัดแบบ 4 แทรค ที่สามารถอัดแยกแทรคได้ ทั้งเรื่องขนาดเครื่องและการใช้สื่อบันทึกที่เป็นสื่อหลักในยุคสมัยนั้น ทำให้คนทั่วไปสามารถมีระบบบันทึกเสียงแบบแยกแทรคได้ Tascam ยังพัฒนากลุ่มสินค้า Portastudio อย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนสื่อที่ใช้บันทึกให้เข้ากับยุคสมัยเสมอ โดยก้าวผ่านจากยุคเทปคาสเซ็ทมาใช้ MD(Mini Disk) ใช้ Hardisk จนมาถึงการใช้ SD Card เป็นสื่อบันทึกในรุ่นปัจจุบัน Image2.jpg

ทำความรู้จัก Tascam DP-24SD Portastudio

Tascam DP-24SD Portastudio เป็นเครื่องบันทึกเสียงแบบ 24 แทรค  บันทึกเสียง (Record) ได้พร้อมกันมากที่สุด 8 แทรค โดยต่อแหล่งเสียงผ่านช่องต่อแบบ Combo Connector ที่สามารถต่อไมโครโฟน และแหล่งเสียงแบบ Line ได้ มีช่องต่อที่เสียบกีต้าร์และเบสได้โดยตรง 1 ช่อง สามารถเล่นเสียง (Playback) พร้อมกันได้มากสุด 24 แทรค ความละเอียดสูงสุดที่ 24Bit/48 kHz แม้แทรคเสียงจะมี 24 แทรค แต่เราสามารถเก็บเสียงที่บันทึกในแต่ละแทรคไว้ได้อีก 8 ชั้นแทรค เรียกว่าระบบ Virtual Track ทำให้เราเก็บเสียงได้มากสุดถึง 192 แทรค Tascam DP-24SD Portastudio มีเอฟเฟกต์ที่ต้องใช้ในการทำงานเสียงมาให้แบบครบจบในตัว เช่น Compressor, EQ, Reverb, Delay, Noise Gate etc. มี Amp Simulator และ Tuner สำหรับกีต้าร์มาให้ในตัว มีเอฟเฟกต์สำหรับการทำ Mastering อย่าง Multiband Compressor มาให้ด้วย Tascam DP-24SD Portastudio ออกแบบมาเพื่อให้สามารถจบงานบันทึกเสียง ปรับแต่งเสียงจนถึงการทำ Mastering ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว Image3.jpg

ทดลองใช้งาน Tascam DP-24SD Portastudio

ผมเริ่มใช้งานโดยเริ่มเปิดเครื่องและดูคู่มือ โดยลองใช้งานตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ที่เป็นการใช้งานที่ต้องทำเป็นประจำในการทำงานบันทึกเสียง อย่าง การเริ่มอัดเสียง การเลือกแหล่งเสียงให้อัดบนแทรคต่างๆ การโยนเสียงข้ามแทรค การตัดต่อเสียง การอัดกีต้าร์โดยต่อตรง การใช้เอฟเฟกต์ การมิกซ์เป็น 2 Track การทำมาสเตอริ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาทดลองทำและดูคู่มือไปด้วย ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ก็ทำได้ตามโจทย์และเข้าใจการใช้งานได้โดยง่าย ดังนั้นสิ่งแรกที่พอใจคือ การใช้งาน Tascam DP-24SD Portastudio เรียนรู้ได้ง่าย คู่มือภาษาอังกฤษ อธิบายการใช้งานได้ชัดเจนและกระชับ หน้าจอแสดงผล แสดงการทำงานและอธิบายข้อมูลชัดเจน ทำให้รู้ว่ากำลังทำอะไร กำลังเลือกตัวเลือกอะไรอยู่ Image4.jpg ด้านเสียง สิ่งที่รู้สึกได้คือ Tascam DP-24SD Portastudio เสียงดีแบบ “มาตรฐาน Tascam” ที่ผมใช้คำว่า “มาตรฐาน Tascam” เพราะจากประสบการณ์การได้ใช้งานอุปกรณ์หลายอย่างจาก Tascam จะมีลักษณะโทนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ คือความไม่ฉูดฉาดล้นเกินของเสียง เสียงไม่คมไม่บวม ไม่ปรุงแต่งเยอะ ให้ธรรมชาติของเสียงแบบที่ฟังแล้วรู้สึกเสียงดี ผมเองเคยมีประสบการณ์การใช้ Portastudio ตั้งแต่ในยุคเรียนชั้นมัธยม สมัยที่ยังใช้เทปคาสเซ็ทบันทึกแบบ 4 แทรค ยังจำได้ถึงลักษณะความอิ่มแบบเรียบๆ ไม่ฉูดฉาดแบบ Tascam ซึ่งพอเริ่มใช้งาน Tascam DP-24SD Portastudio มันได้ความรู้สึกของโทนเสียงแบบนั้นชัดเจน เอฟเฟกต์ต่างๆ ที่มีมาให้นั้น ไม่ได้หวือหวาแต่ทำมาอย่างดี เอฟเฟกต์แต่ละตัว ไม่ได้ปรับเสียงได้แบบต่างค่าจนแปลงร่างเปลี่ยนเสียงไป แต่การปรับค่าต่างๆ นั้นปรับคุมเสียงได้ดี โดยยังรักษาลักษณะเสียงไม่ให้ฉูดฉาดหรือเปลี่ยนโทนจากเสียงตอนต้น ซึ่งตรงนี้ทำได้ดีมาก ในมุมการใช้งานกับกีต้าร์ การต่อกีต้าร์ตรงเข้าสู่เครื่องอัดไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่สิ่งที่ดีคือ Amp Simulator ที่ให้มานั้น เสียงดีมากและการปรับไม่ซับซ้อน ปุ่มหมุนปุ่มกดปรับค่าต่างๆ ทำงานได้ดี ให้ความหนืดความหน่วงและสัมผัสที่ดี การเข้าถึงการทำงานต่างๆ ไม่ต้องกดการทำงานหลายชั้น การทำงานที่ต้องใช้บ่อยอย่างการปรับ EQ, การตั้งค่า Send มีปุ่มแยกการทำงานมาให้เลย ทำให้ใช้งานได้เหมือนใช้ EQ ที่เป็น Hardware การตัดต่อก็ทำได้ง่าย ผ่าน Jog Wheel และหน้าจอที่แสดงการทำงานชัดเจน มีตัวเลือกบอกทุกครั้งว่าอยากทำคำสั่งไหน ต้องกดปุ่มอะไร สรุปการใช้งานคือ เสียงดี เข้าใจง่าย เอฟเฟกต์ที่ให้มาเสียงดี ปรับแต่งง่าย ความต่างของการใช้งานการบันทึกเสียงด้วย Audio Interface บนคอมพิวเตอร์ เปรียบเทียบกับการใช้เครื่องอัดแยกแทรคแบบ Portastudio คำถามสำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นในใจก็คือ ยุคนี้การบันทึกเสียงด้วย Audio Interface บนคอมพิวเตอร์ นั้นทำได้ง่ายๆ แล้วจะมีเหตุผลอะไรในการเลือกใช้ Portastudio เพื่อบันทึกเสียง การใช้ Portastudio เป็น”ทางเลือก”ของการบันทึกเสียง งานบางอย่างที่ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงสถานที่บันทึก อย่างเช่น การแสดงสด งานกองถ่าย การซ้อมดนตรีหรือโชว์ขนาดเล็ก อาจไม่สะดวกที่จะยกคอมและอุปกรณ์ต่อพ่วงเพื่อไปบันทึกเสียง แต่ถ้ายกอุปกรณ์อย่าง Portastudio ไป ก็แค่เสียบปลั๊กแล้วเปิดเครื่องก็เริ่มทำงานได้ Portastudio จึงตอบโจทย์ข้อแรกคือความง่ายของระบบที่ไม่ซับซ้อน แค่ยกเครื่องไปก็ทำงานได้เลย อีกข้อคือเรื่องต้นทุน ถ้าจะอัดเสียงให้ได้ตามสเป็คเดียวกับที่อัดได้บน Tascam DP-24SD Portastudio คืออัดพร้อมกันได้ 8 แทรค มีปลั๊กอินที่ปรับแต่งเสียงได้ ราคาค่าอุปกรณ์สำหรับระบบการอัดเสียงบนคอมพิวเตอร์ สูงกว่าราคา Tascam DP-24SD Portastudio หลายเท่าตัว ทั้งค่าคอมพิวเตอร์ ค่าออดิโออินเตอร์เฟส ค่าโปรแกรมอัดเสียง การใช้ Portastudio ช่วยลดค่าใช้จ่ายในมุมนี้

Image5.jpg

อีกข้อคือเรื่องความเสถียรหรือน่าเชื่อถือของระบบ

การบันทึกเสียงอย่างงานการแสดง อาจต้องบันทึกเสียงต่อเนื่องยาวหลายชั่วโมง ถ้าใช้การบันทึกเสียงบนคอมพิวเตอร์ ก็ต้องมั่นใจว่าคอมและโปรแกรม ถูกตั้งค่ามาอย่างดี แล้วก็ต้องลุ้นว่าจะไม่เกิดการแฮงค์หรือการ Dropout ของระบบ ที่จะทำให้การบันทึกเสียงขาดตอน การใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงที่เป็น Hardware อย่าง Tascam DP-24SD Portastudio ปลอดภัยกว่าในเรื่องความเสถียร เพราะถูกออกแบบมาให้ทำงานเฉพาะอย่าง สามารถบันทึกเสียงแบบต่อเนื่องยาวนานได้ โดยมีโอกาสที่ระบบจะล้มเหลวน้อยกว่าคอมพิวเตอร์ ในการบันทึกเสียงงานที่สำคัญมากๆ จึงมักมีเครื่องบันทึกเสียงที่เป็น Hardware ใช้เป็นระบบอัดเสียงที่สองหรือระบบสำรอง อยู่ด้วยเสมอ การใช้งาน Tascam DP-24SD Portastudio นอกสถานที่ เราสามารถใช้ Tascam DP-24SD Portastudio เพื่องานในรูปแบบต่างๆ เช่น – การบันทึกการแสดงขนาดเล็ก – Tascam DP-24SD Portastudio บันทึกเสียงจากไมโครโฟนและสัญญาณแบบ Line ได้พร้อมกัน 8 แทรค จึงใช้บันทึกเสียงการแสดงที่ใช้จำนวน Input ไม่เกินนี้ได้ หรือจะใช้เป็นเครื่องบันทึกเสียงประจำห้องซ้อม เก็บไอเดียความคิดของวงดนตรี ก็เหมาะและทำให้การทำงานสะดวก – การบันทึกเสียง ทำเพลงนอกสถานที่ – Tascam DP-24SD Portastudio ยกใส่รถได้ง่าย พกพาไปทำงานเพลงนอกสถานที่ได้สะดวก มีเพลงจำนวนมากมายในโลก ที่มีต้นกำเนิดเกิดจากไอเดียที่บันทึกไว้บน Portastudio ที่ศิลปินพกพาไปด้วยขณะออกทัวร์ – ใช้เป็นมิกเซอร์สำหรับการแสดง – เราสามารถปรับใช้ Tascam DP-24SD Portastudio เป็นมิกเซอร์ควบคุมและปรับแต่งเสียงได้ ด้วยระบบปรับแต่ง EQ ที่มีปุ่มแยกปรับค่าทุกค่า ทำให้การเข้าถึงการปรับแต่งเสียงทำได้เร็ว การใช้เอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ไม่รู้สึกถึงความหน่วงของเสียง ทำให้ใช้ Tascam DP-24SD Portastudio เสมือนมิกเซอร์ขนาดเล็กที่มีเอฟเฟกต์ในตัวได้ Image6.jpg

บทสรุป

ด้วยประสบการณ์การทำ Portastudio ยาวนานกว่า 40 ปี ทำให้ Tascam เข้าใจอย่างแท้จริง ว่าเครื่องบันทึกเสียงนั้นควรมีสิ่งใดบ้าง และใส่ทุกอย่างที่ใช้งานได้ง่ายและเสียงดี รวมอยู่ใน Tascam DP-24SD Portastudio การใช้งาน Portastudio นั้นสนุก เข้าใจง่าย  ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ
———————————————————— ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจแนะนำการทำเพลงและรับผลิตเพลง ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

Leave a Reply