3 เทคนิค

ดูแล Turntable คู่ใจ ให้ใหม่เอี่ยมอ่อง

        อยู่บ้านช่วงนี้ อารมณ์การฟังเพลงแบบ Retro ก็เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกแล้ว ล่าสุดเริ่มจะมีการทำเพลงออกมาเป็นตลับเทปอีกครั้ง เพื่อตอบสนองกลุ่มนักฟังเพลงที่ต้องการรำลึกเสียงแห่งความหลัง ในขณะที่นักเล่นรุ่นเก่า ๆ ก็ยังให้ใจไปในทาง Turntable กันมากกว่า และทำให้นักเล่นรุ่นใหม่ ๆ บางคนพากันเจริญรอยตาม หา Turntable หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงกันอย่างครึกครื้น

แต่ปัญหานั้นมีอยู่ว่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องการความดูแลเอาใจใส่มากกว่าไอเทมฟังเพลงทั่วไป ดังนั้นวันนี้ ProPlugin มี 3 เทคนิคดี ๆ ดูแลรักษา Turntable ให้ใหม่เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ มาฝากทุกคนกันด้วยครับ

        หัวเข็มของ Turntable เป็นจุดสำคัญที่สุดของทั้งระบบ เสียงจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่ที่หัวเข็มเป็นอันดับแรก ขนาดบางคนยอมลงทุนซื้อแค่หัวเข็มในราคาเป็นแสน ๆ บาทกันเลยก็มี แต่หัวเข็มเองก็เป็นจุดที่เปราะบางและละเอียดอ่อนที่สุดเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องถนอมมันเป็นอย่างดี กับ 3 ทริคง่าย ๆ ดังนี้

พยายามตั้งน้ำหนักการกดหัวเข็มให้พอดีและบาลานซ์ที่สุด ไม่อ่อนไปหรือแก่มากไป เพราะถ้าตั้งแก่เกินไป หรือหัวกดลงแผ่นมากเกินไป นอกจากจะทำให้เสียงไม่ดี มีนอยซ์เยอะแล้ว ยังทำให้แผ่นเป็นรอยง่าย และหัวเข็มก็จะสึกง่ายด้วยเช่นกัน

ถ้า Turntable มีระบบโช๊ค ให้พยายามใช้ระบบโช๊คของมันในการวางเข็ม เพราะจะวางได้นุ่มนวลกว่าการใช้มือเราวางตรง ๆ การวางด้วยมือ บางทีอาจจะเผลอวางหนักจนทำให้เข็มมีโอกาสหักหรือสึกได้ การวางด้วยโช๊คจึงดีที่สุด ยกเว้นว่าไม่มีระบบโช๊คมาด้วย ก็ควรจะวางด้วยความระมัดระวัง และวางให้เบามือที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกครั้งที่ใช้เสร็จ ให้ยกหัวกลับมาเก็บที่แท่นวางทุกครั้ง และควรจะเสียบปลอกกันหัวเข็มเอาไว้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาซนหรือเราเผลอไปโดนจนหัวเข็มหักแบบไม่ได้ตั้งใจ

 

        เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ Turntable สำหรับการฟังเพลงส่วนใหญ่ มักจะใช้ระบบแบบ Belt-Drive ซึ่งมีสายพานร่วมในการทำงาน แตกต่างจาก Turntable สำหรับ DJ ที่มักจะใช้ระบบ Direct-Drive หรือระบบเฟืองในการขับเคลื่อน

แน่นอนว่า ถ้าเป็น Direct-Drive ก็ไม่ต้องดูแลมาก เนื่องจากโครงสร้างมันมีความแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่เปิดเพลงนาน ๆ ก็ไม่เป็นไร หรือจับมัน Scratch ก็ไม่สะเทือน แตกต่างจากระบบสายพานที่ต้องใส่ใจดูแลมากกว่า เพราะถ้าไม่เปิดฟังนาน ๆ สายพานก็จะมีโอกาสยืดได้ ยิ่งถ้าทิ้งไว้นานมาก ๆ เข้า สายพานก็จะทั้งยืดและแข็งจนมอเตอร์ไม่สามารถหมุนจานเสียงได้ ต้องวุ่นวายหาสายพานสำรองมาใส่กันอีก

ถ้าเป็นรุ่นเก่า ๆ ที่หาสายพานยาก ๆ ก็แทบจะต้องทิ้งกันเลยทีเดียว ดังนั้นส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ใช้ฟังเป็นเวลานาน ๆ ก็มักจะถอดสายพานแยกออกเพื่อเก็บเอาไว้ ป้องการอากาศยืดย้วยได้เป็นอย่างดี หรือถ้าไม่อยากถอด หรือระบบมันถอดสายพานได้ยาก ก็ใช้วิธีฟังบ่อย ๆ สักสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้สายพานทำงานได้อย่างราบรื่นและไม่มีอาการสะดุดกวนใจแต่อย่างใด

 

        เรื่องของความสะอาด โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นนั้นสำคัญมาก เราต้องดูว่าแผ่นเสียงของเราสะอาดแค่ไหน ฝุ่นเยอะมากไหม หรือหัวเข็มสกปรกรึเปล่า? ซึ่งการทำสะอาดโดยเฉพาะแผ่นเสียง จำเป็นต้องใช้แปรงที่ออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดแผ่นโดยเฉพาะ

วิธีทำความสะอาดก็ง่ายมาก ถ้าเป็นแผ่นเสียงก็เพียงวางแผ่นแล้วเปิดเครื่องให้แผ่นหมุน โดยที่ไม่ต้องเอาหัวเข็มลงมาวาง จากนั้นก็เอาแปรงวางแนวขวางแล้วปล่อยให้แผ่นหมุนผ่านแปรง มันก็ทำการกักเก็บฝุ่นเอาไว้ในแปรงจนหมดเอง

ในส่วนหัวเข็มก็จะมีแปรงสำหรับทำความสะอาดหัวเข็มเช่นเดียวกัน ซึ่งแปรงจะมีขนาดเล็ก ๆ โดยวิธีทำความสะอาดก็เพียงลากแปรงผ่านตามแนวเข็ม โดยเราจะไม่ปัดย้อนทิศหัวเข็ม เพราะอาจทำให้เข็มเสียหายได้ และควรปัดด้วยความระวังอย่างเบามือเสมอ

สำหรับใครที่ซีเรียสเรื่องคุณภาพเสียงมาก ๆ ต้องซื้อน้ำยาทำความสะอาดแผ่นมาใช้ทุกครั้ง หลังการใช้งานเสร็จ เพื่อให้แผ่นอยู่ในสภาพที่ดีสุด และควรจะมีเครื่องล้างสนามแม่เหล็กที่ตัวแผ่น เพราะเมื่อเราหมุนเล่นกับหัวเข็มไปนาน ๆ จะเกิดประจุไฟฟ้าที่ตัวแผ่นไวนิล ดังนั้นการล้างประจุออกจะช่วยให้เสียงนอยซ์ลดลง เสียงที่ได้จะสะอาดและมีความสงัดที่ฉากหลังมากยิ่งขึ้น เสียงร้องจะเปิดโปร่ง ไม่อึดอัด และอย่าลืมเก็บแผ่นในซองพลาสติก ก่อนใส่ซองเก็บแผ่นทุกครั้ง ไม่ควรเก็บแผ่นในที่ร้อนและชื้นโดยเด็ดขาด เพื่อให้แผ่นมีคุณภาพที่ดีพร้อมเล่นเพลงโปรดได้ตลอดไป