บันทึกเสียงง่ายๆ กับ Mixer อย่างมืออาชีพ

Mackie มีชื่อเสียงด้านการผลิตมิกเซอร์สำหรับงานโฮมสตูดิโอมาอย่างยาวนาน และในปัจจุบันก็มีมิกเซอร์หลากหลายรุ่นหลายขนาด ให้เลือกใช้งานตามความต้องการที่ต่างกันไปของผู้ใช้

Mackie ProFX เป็นสินค้ามิกเซอร์อีกรุ่น ที่เน้นการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นมิกเซอร์สำหรับงานแสดงสด ที่มีเอฟเฟกต์อย่างรีเวิร์บ ดีเลย์ มาให้ในตัว ทำให้ใช้งานกับงานแสดงขนาดเล็กได้ โดยไม่ต้องมีเอฟเฟกต์ต่อพ่วง จนถึงการใช้เป็น Audio Interface เพื่อบันทึกเสียงแบบจริงจัง

คำว่า V3 ในชื่อรุ่น Mackie ProFX6V3  คือการพัฒนาสินค้ากลุ่ม ProFX มาถึงรุ่นที่ 3 (Version3) ซึ่งมีสิ่งที่เป็นข้อเด่นสำคัญที่เพิ่มเข้ามาคือ การใส่ ONYX Mic Preamp ซึ่งเป็นระบบไมค์ปรีที่เป็นจุดขายของ Mackie มาไว้ในตัว ProFXV3 เลย บทความตอนนี้ เราจะมาทดลองใช้  Mackie ProFX6V3 ซึ่งเป็นรุ่นเล็กสุดในกลุ่ม ProFXV3 กัน

การใช้งานแบบมิกเซอร์รวมสัญญาณเสียง Mackie ProFX6V3 นั้น ให้ช่องต่อสัญญาณเพียงพอสำหรับงานแสดงสดขนาดเล็ก โดยมีช่องต่อสัญญาณรูปแบบต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้มาให้ครบถ้วน โดยแยกเป็นช่อง Input ตามการใช้งานคือ

AW_Online-05.jpg
 

ช่องแบบ Mono 2 ช่อง ซึ่งสามารถต่อไมค์โครโฟนด้วยหัว XLR โดยช่องต่อไมค์นี้ ใช้ไมค์ปรี ONYX และยังเลือกต่อสัญญาญแบบ Line และแบบ Hi-Z เพื่อต่อกีต้าร์ไฟฟ้าและเบสได้โดยตรง

ช่องต่อแบบ Mono นี้สามารถส่งสัญญาณเพื่อใช้กับเอฟเฟกต์ภายในตัวมิกเซอร์ได้

ช่องแบบ Stereo 2 ช่อง เป็นช่องต่อแบบ TRS และ AUX

เมื่อดูจากจำนวน Input ที่มีให้ ทำให้สามารถนำไปใช้กับงานแสดงสดขนาดเล็กได้อย่างสบาย เช่น วงที่มีกีต้าร์เล่นร่วมกับนักร้อง หรือวงที่ใช้คีย์บอร์ดเล่นร่วมกับนักร้อง

ผมลองใช้งาน ProFX6V3 ในแบบมิกเซอร์ โดยลองต่อสัญญาณเสียงผ่านช่องต่างๆ การลองกับไมค์ผ่านไมค์ปรี ONYX นั้น ก็พบว่า ONYX นั้นดีสมชื่อที่เป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน การให้เสียงสะอาดชัดเจน มีน้ำหนักมีพลัง และรู้สึกถึงความไวในการตอบสนองความถี่ต่างๆ ได้ดี รู้สึกถึงการรับความถี่ที่ทำได้กว้าง ให้น้ำหนักเสียงจนถึงหางเสียงที่ดี ซึ่งตรงนี้จะค่อนข้างต่างจากการใช้ไมค์ปรีจาก Audio Interface ที่ราคาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหลายๆ ตัวที่ผมเคยได้ลอง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เสียงแบบไม่หวือหวา ให้ความรู้สึกนิ่งๆ เรียบๆ เปรียบเทียบตามความรู้สึกแล้ว ONYX ค่อนข้างจัดจ้านกว่า

AW_Online-06.jpg

 

การต่อสัญญาณเสียงผ่าน Line และ Hi-Z ได้เสียงที่สะอาดชัดเจน ในช่องแบบ Mono ช่องที่ 1 และ 2 มี EQ มาให้สองย่านคือ Hi-12kHz และ Low-80Hz ซึ่งการปรับ EQ นั้น รู้สึกถึงเสียงที่เปลี่ยนไปได้อย่างดี เช่น รู้สึกว่าเสียงจากไมค์มีย่านสูงมากไป การปรับ EQ ย่าน Hi ก็รู้สึกว่าทำให้เสียงอุ่นขึ้น ความแหลมลดลงแบบเห็นผลชัด ซึ่งตรงนี้ดูเป็นความตั้งใจของ Mackie ที่กำหนดย่านการปรับ EQ ให้รองรับกับการตอบสนองย่านความถี่ของไมค์ปรี ONYX อย่างดี ทำให้เห็นผลชัดเจนในการปรับเสียง

ProFX6V3 มีเสียงเอฟเฟกต์มาให้ 24 เสียง โดยมีเสียงตั้งแต่ Reverb, Delay จนถึงเสียงสำหรับกีต้าร์อย่าง Auto Wah, Flanger ซึ่งเสียงทุกเสียงทำมาอย่างดี มีลักษณะเสียงชัดเจน เช่น Reverb แบบ Hall นั้นมีความใหญ่ความฉ่ำ และช่วยเพิ่มความหรูหราให้เสียง ในขณะที่ Reverb แบบ Plate ที่ให้มา ก็มีความใสความคมของหางเสียงแบบที่ควรจะเป็น

เอฟเฟกต์ที่ให้มานั้นเป็นแบบ Preset ตั้งค่าตายตัว เราปรับค่าเช่นความยาวเสียง หรือโทนเสียงไม่ได้ แต่เรามิกซ์ผสมเสียงจริงกับเสียงเอฟเฟกต์ได้ ผ่านปุ่มหมุน FX To Main ทำให้จัดการความมากน้อยในการใช้เอฟเฟกต์ได้

ข้อสรุปสำหรับการใช้งานแบบมิกเซอร์ก็คือ ProFXV3 นั้น เสียงดีแบบที่พร้อมสู้กับมิกเซอร์ในระคาใกล้เคียงกันได้ทุกตัว คุณภาพไมค์ปรีแบบ ONYX นั้น ดีสมกับเป็นเรือธงของ Mackie

ถ้ามองหามิกเซอร์ขนาดเล็กไว้ใช้งาน ก็ถือว่า ProFXV3 นั้น เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ได้เลย

ทดลองใช้ Mackie ProFX6V3 เป็น Audio Interface เพื่อบันทึกเสียง

นอกจาก ProFX6V3 จะเป็นมิกเซอร์คุณภาพดีแล้ว ยังเป็น USB Audio Interface  แบบ 2 in/4 Out อีกด้วย

ความรู้สึกแรกของการมองมิกเซอร์ที่เป็น Audio Interface ในตัว ผมเองจะรู้สึกว่าส่วนของการเป็น Audio Interface ได้นั้น เป็น”ของแถม” มากกว่าจะนำมาใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการบันทึกเสียงจริงจัง เพราะมิกเซอร์ในแนวนี้ส่วนใหญ่ จะมีข้อจำกัดในการจัดการระบบ เช่น การไม่มีไดรเวอร์แบบที่เขียนมาให้กับตัวอุปกรณ์โดยเฉพาะ คุณภาพเสียงในการอัดที่ไม่ค่อยดีหรือเสียงกรอบเสียงบาง ทำให้การใช้มิกเซอร์เป็น Audio Interface ส่วนใหญ่ใช้เพื่อ “แก้ขัด” ไปก่อน

แต่กับ ProFX6V3 นั้น จะมองว่าทำหน้าที่ Audio Interface แบบเป็น “ของแถม” ไม่ได้ เพราะความสามารถในมุม Audio Interface นั้น ถือเป็นจุดแข็งที่ดีที่สุดของ ProFX6V3 เลย

AW_Online-07.jpg

 

ProFX6V3 นั้น ทำหน้าที่ของ Audio Interface ได้ดีแบบที่ Audio Interface ดีๆ ทุกตัวจะทำได้ นั่นคือให้ช่องต่อทุกอย่างมาครบถ้วนแบบที่ Audio Interface ทุกตัวมี คือ ช่องต่อไมค์ ช่องต่อ Line และ Hi-Z

มีระบบ Monitor เพื่อฟังเสียงจาก Input ได้โดยตรงและฟังเสียงที่ผ่านการประมวลผลจากโปรแกรมมาแล้วได้ โดยการใช้ปุ่มหมุน Blend เพื่อเลือกการฟัง ซึ่งนี่ก็คือระบบ “Direct Monitor” แบบที่ Audio Interface ต้องมี

ProFX6V3 มีไดรเวอร์ของตัวเอง ที่สามารถปรับความดังเบาของ Input/Output ได้ การตั้งค่า Buffer ทำได้ต่ำถึง 128ms ทำงานได้ที่ความละเอียดสูงสุดถึง 24Bit/192kHz

ข้อสำคัญคือการอัดเสียงและเล่นเสียงด้วย ProFX6V3 นั้นเสียงดี ให้เสียงแน่นหนามาเต็ม ไม่รู้สึกก๋องแก๋งแบบของแถม ซึ่งมองแค่นี้ ก็ถือว่า ProFX6V3 เป็น Audio Interface ที่ดีมากตัวหนึ่ง เพราะได้คุณภาพเสียงของ ONYX ไมค์ปรีด้วย

แต่มีเรื่องที่ ProFX6V3 ไปไกลกว่า Audio Interface สำหรับทำเพลง นั่นคือนอกจากจะใช้ในการทำเพลงบันทึกเสียงได้ดีแล้ว นี่คือ Audio Interface ที่เหมาะกับการใช้ทำ Live Casting มากที่สุดตัวหนึ่ง

ความพิเศษอยู่ที่ช่อง USB Out 3-4 ของระบบ Audio Interface บนตัว ProFX6V3 นั้น ถูกทำมาเพื่อการเชื่อมโยงเสียงภายในโปรแกรมต่างๆ บนคอม ให้กลับเข้ามาที่ระบบได้ โดยไม่ต้องใช้การต่อสายภายนอกช่วย

โปรแกรมที่ถูกเลือกให้ส่งสัญญาณออกที่ช่อง USB Out 3-4 ตัวสัญญาณเสียงจะถูกส่งกลับมาที่ช่อง USB Input 1-2 โดยเราตั้งค่า Output 3-4 นี้ได้กับทุกโปรแกรมตั้งแต่โปรแกรมทำเพลงจนถึงเกม แล้วเราก็ใช้ช่อง USB Input 1-2 เป็นตัวรับเสียงได้ในโปรแกรมอย่าง OBS Studio ที่เป็นโปรแกรมช่วยถ่ายทอดสด ทำให้เราสามารถรวมเสียงจากทุกโปรแกรมรวมถึงเสียงไมค์โครโฟน ให้เสียงส่งเข้ามาที่โปรแกรมถ่ายทอดสดได้ โดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์หรือการเชื่อมสายภายนอกอีก

นี่คือจุดแข็งของ ProFX6V3 ที่เป็นอุปกรณ์จัดการเสียงสำหรับถ่ายทอดสดผ่านระบบ Streaming ที่ยืดหยุ่นและได้คุณภาพเสียงที่ดีมาก

บทสรุป

Mackie ProFX6V3 นั้น เหมาะกับคนทำเพลงในปัจจุบัน ที่ทำงานอีกหลายด้านเพื่อใช้สนับสนุนการทำเพลง เช่น การเป็น Youtuber, การทำ Vlog และการทำ Live Streaming

ด้วยคุณภาพและความสามารถต่างๆ ที่ Mackie ProFX6V3 นั้นทำได้ ทั้งด้านการเป็นมิกเซอร์และ Audio Interface ที่ให้คุณภาพเสียงดี ไปจนถึงความสามารถในการเป็นอุปกรณ์ช่วยทำ Live Casting

ทำให้ Mackie ProFX6V3 เป็นหนึ่งในมิกเซอร์และ Audio Interface ในราคาไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ที่น่าสนใจที่สุดตัวหนึ่งในตอนนี้ครับ  

———————————————————— ผู้เขียน ธนภัทร แสงสุตะโกศล(บอม) – โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง นักทำเพลงโฆษณาและศิลปินวง Tea or Me ปัจจุบันเปิดเพจ “มนุษย์ทำเพลง”แนะนำการทำเพลงและสอนทำเพลงแบบออนไลน์ ติดตามเฟสบุ๊คเพจได้ที่ https://www.facebook.com/RiddimerStudio/

 

Leave a Reply